พาณิชย์ดันส่งออก 'ไข่ไก่' 200 ล้านฟอง แก้ราคาร่วง

ราคาไข่ไก่ในปัจจุบันลดลง ซึ่งไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ขณะที่ต้นทุนของผู้เลี้ยงไข่ไก่อยู่ที่ 2.58 บาท

อธิบดีกรมการค้าภายใน วัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม ระบุ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประชุมได้หารือถึงการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดปริมาณไข่ไก่ส่วนเกินในตลาด โดยปริมาณไช่ไก่ที่ออกสู่ตลาดต่อวันอยู่ที่ 42 ล้านฟอง แต่มีความต้องการใช้อยู่ที่ 38 ล้านฟอง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ในปัจจุบันลดลง ซึ่งไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ขณะที่ต้นทุนของผู้เลี้ยงไข่ไก่อยู่ที่ 2.58 บาท ดังนั้นราคาที่ผู้เลี้ยงไข่ไก่ควรจะขายได้อยู่ที่ฟองละ 2.80 บาท  
                 
นอกจากนี้ ราคาไข่ไก่ที่ลดลงจากผลผลิตล้นตลาด ยังเกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทย โดยมีการประเมินว่านักท่องเที่ยวมีการบริโภคไข่ไก่อยู่ที่วันละ 2 ล้านฟอง ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวจำนวนนี้หายไปทำให้ไข่ไก่ส่วนเกินจึงเข้ามาในตลาดเพิ่ม  
                 
ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงได้มีมติในการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ ได้แก่ 1. ประสานสถานีน้ำมันทั้งพีทีที และบางจาก ช่วยกระจายไข่ไก่โดยนำไปขายในสถานีน้ำมัน เป้าหมาย 20 ล้านฟอง โดยจะนำไข่ไก่เบอร์ 3 ขายในราคาแผงละ 70 บาท (30 ฟอง) และ 2. จะผลักดันไข่ไก่ 200 ล้านฟองออกจากตลาดด้วยการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยรัฐบาลจะสนับสนุเงินชดเชยให้เอกชน 100 ล้านฟองแรกในราคาฟองละ 50 สตางค์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 51 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 
 
สัดส่วนการบริโภคไข่ไก่ที่ไทยผลิตได้เป็นการบริโภคในประเทศ 95-98% ที่เหลือส่งออก ซึ่งต้องยอมรับว่าจากผลกระทบโควิดทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามาก ทำให้การบริโภคไข่ไก่ส่วนนี้หายไป ซึ่งคาดว่าทั้งปีนักท่องเที่ยวมีการบริโภคไข่ไก่มากกว่า 100 ล้านฟอง ก็ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยผลักดันการส่งออก และเป็นมาตรการที่ใช้เมื่อปีที่แล้ว สามารถผลักดันให้ราคาไข่ไก่ขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งจะมีการปลดแม่ไก่ยืนกรง เพื่อลดปริมาณไข่ไก่เข้ามาในตลาด

ผู้เลี้ยงไก่ชี้มาตรการห้ามส่งออก ฉุดราคา ’ไข่’

นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ มาโนช ชูทับทิม ระบุ ที่ผ่านมามาตรการผลักดันส่งออกไข่ไก่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาไข่ตกต่ำได้อย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อราคาในประเทศสูงขึ้นเล็กน้อย การส่งออกก็หยุดชะงัก หันมาขายในประเทศแทน ราคาไข่ก็วนตกต่ำอีก

การแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จควรดำเนินคู่กับการปรับแผนบริหารจัดการใหม่ทั้งระบบ จากการวิเคราะห์ พบว่าปัญหาราคาไข่ตกต่ำในขณะนี้เป็นผลมาจากมาตรการรัฐที่ห้ามส่งออกเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่โควิดระบาดระลอกแรก เกิดการกักตุน ไข่จึงไม่พอบริโภค

เกษตรกรจึงเพิ่มปริมาณเลี้ยงจนถึงขณะนี้ผลผลิตไข่ไก่มีมากเกินความต้องการ แต่ไม่สามารถปลดไก่ยืนกรงได้เพราะไม่มีลูกไก่ทดแทน ในกรณีลูกไก่ ยังมีราคาสูงอยู่ และผู้ผระกอบการบางรายกำหนดให้ซื้อพ่วงอาหารที่ราคาแพงเช่นกัน ซึ่งจะเป็นผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น

ปัญหานี้ต้องนำมาหารือกัน สาเหตุที่ลูกไก่แพงเพราะปริมาณพ่อ-แม่พันธุ์อยู่ในระดับที่พอดี คือ 1 แสนตัว สามารถผลิตลูกไก่เพื่อใช้เป็นไก่ยืนกรงได้ประมาณ 10 ล้านตัว ในปริมาณพ่อ-แม่พันธุ์ที่พอดีทำให้เกษตรกรหาซื้อลูกไก่ยาก จึงไม่กล้าปลดไก่ยืนกรงที่มีอยู่ ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับแผนบริหารจัดการตรงนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ปัญหาราคาไข่ไก่วนกลับมาตกต่ำอีก
 
จากสถิติราคาไข่ไก่ปี 2557-2562 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยต่ำกว่าต้นทุนมาโดยตลอด พบว่า ปี 2557 ขาดทุน 0.12 บาทต่อฟอง ปี 2558 ขาดทุน 0.14 บาทต่อฟอง ปี 2559 เป็นปีเดียวที่มีกำไรอยู่ที่ 0.06 บาทต่อฟอง ปี 2560 ขาดทุน 0.21 บาทต่อฟอง ปี 2561 ขาดทุน 0.30 บาทต่อฟอง เป็นที่มาของการร่วมกันสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board) เป็นผู้ผลักดันการเดินหน้ามาตรการต่างๆ โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนและเกษตรกรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ช่วยกันปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ