‘บราเดอร์’หวังเติบโตสวนกระแสวิกฤติ

‘บราเดอร์’หวังเติบโตสวนกระแสวิกฤติ

“บราเดอร์” ชี้วิกฤติโควิดสร้างความต้องการแบบใหม่ ตลาดเครื่องพิมพ์ยังมีโอกาสโต จักรเย็บผ้ากระแสแรง เปิดกลยุทธ์ปี 2564 มุ่งพัฒนาสินค้า-บริการ ตอบโจทย์วิถีใหม่ลูกค้าทั่วไป-ธุรกิจ ตั้งเป้าเติบโตไม่น้อยกว่า 8%

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วิกฤติโควิดสร้างความต้องการใหม่ บราเดอร์คาดว่าปี 2564 ตลาดเครื่องพิมพ์ประเทศไทยจะมียอดขายรวมใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมตลาดจะเติบโตในทุกเซ็กเมนท์

ขณะที่ อีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับอานิสงค์คือ จักรเย็บผ้า ประเมินจากที่บราเดอร์มียอดขายสูงขึ้นถึง 20% ในปีงบประมาณ 2563 ทั้งอัตราการเติบโตก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการทำหน้ากากผ้าเป็นงานดีไอวายเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม

สำหรับบราเดอร์ แนวทางธุรกิจปี 2564 จะเน้นสร้างการเติบโตทั้งส่วนของ “personal use” ที่ใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบราเดอร์เพื่อเป็นงานอดิเรกหรือใช้เพื่อทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็ก รวมถึงกลุ่ม “business use” ที่นำไปใช้ทำธุรกิจเต็มรูปแบบ

“เราจะเน้นขายสินค้าในเชิงการลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้ พร้อมๆ ไปกับให้ความรู้กับลูกค้าเรื่องวิธีการทำธุรกิจโดยใช้สินค้าของบราเดอร์ และชี้ช่องทางให้สามารถทำธุรกิจด้วยตนเองเพื่อช่วยลดปัญหาการว่างงานที่เกิดจากวิกฤติโควิด-19”

อย่างไรก็ดี นอกจากกลยุทธ์ “3C” ที่ให้ความสำคัญกับ Customer, Channel และ Company แล้วบราเดอร์ยังได้ปรับรูปแบบการทำงานที่เน้นเรื่อง “Speed” และ “Resilience” เพื่อการทำงานได้อย่างฉับไว สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ รองรับความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น เพราะภาพรวมตลาดในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบสู่ “customize style” มากยิ่งขึ้น

เขากล่าวว่า วันนี้บราเดอร์ไม่ได้เน้นขายแค่สินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ได้เปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจ โดยหันมานำเสนออาชีพใหม่ที่สามารถสร้างรายได้และเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อาชีพเดิมของลูกค้า เชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้สามารถยังเติบโตได้แม้ต้องพบกับวิกฤติระดับโลก บริษัทตั้งเป้าว่าปีงบประมาณ 2564 ภาพรวมธุรกิจจะเติบโต 8%

บราเดอร์ระบุว่า การดำเนินธุรกิจจะประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1. Expansion มุ่งขยายใน 3 แนวทาง คือ ขยายไปยังกลุ่มธุรกิจบีทูบีแบบเจาะลึกยิ่งขึ้น ขยายสู่ตลาดใหม่พร้อมๆ ไปกับการนำเสนอ “Tailor made solution” ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเลือกบิสิเนสโมเดลที่ตอบโจทย์ได้สูงสุด

ขณะที่ กลยุทธ์ที่ 2. Develop พัฒนาใน 3 ส่วน คือ การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ การนำศักยภาพของผลิตภัณฑ์มาพัฒนาเป็นโซลูชั่นใหม่ๆ นำเสนอสู่ตลาด และ การพัฒนา “Customized service model”

กลยุทธ์สุดท้ายคือ การสื่อสาร โดยบราเดอร์ต้องการจะพัฒนาศักยภาพในการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น เริ่มจากสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายเห็นถึงความพร้อมของบราเดอร์ และให้ความสำคัญกับเสียงของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ย้ำภาพเบอร์ 1 ด้านงานบริการ โดยเตรียมนำนวัตกรรมมาเสริมศักยภาพทีมเพื่อรองรับการเติบโต รวมถึงพัฒนายกระดับคุณภาพงานบริการ พัฒนาบริการใหม่ๆ ตอบไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบัน