สร้าง Resiliency สู้โควิด 

สร้าง Resiliency สู้โควิด 

ส่อง 7 หลักการสร้าง Resiliency หรือความสามารถที่จะฟื้นกลับคืนอย่างรวดเร็วจากสภาพยากลำบาก ท่ามกลางพายุโควิด เพื่อกลับสู่สภาพเดิมแห่งความสุข

โลกรับทราบทีละน้อยว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกแสนนานเหมือนไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งจำนวนผู้ติดใหม่จะไม่เป็นศูนย์ทุกวันเช่นเดียวกับประเทศทั้งหลายในโลก เพียงแต่จะปะทุขึ้นที่ใดและรีบดับทันทีแล้วก็จะปะทุอยู่ตลอดเวลาถึงแม้จะฉีดวัคซีนที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพแล้วก็ตาม ขณะนี้เป็นการแข่งขันระหว่างการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็วจนวัคซีนที่มีอาจใช้ไม่ได้ผลก็อาจเป็นได้

ในวิกฤติโควิดมีอยู่คำหนึ่งที่ได้ยินกันเป็นประจำ นั่นก็คือ Resiliency ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะฟื้นกลับคืนอย่างรวดเร็วจากสภาพยากลำบาก ซึ่งสื่อความหมายของความแข็งแกร่ง (Resilience เป็นคำนามเช่นเดียวกับ Resiliency ทั้งสองมีความหมายเหมือนกัน) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเสนอ 7 หลักการในการสร้าง Resiliency ท่ามกลางพายุโควิดเพื่อกลับสู่สภาพเดิมแห่งความสุข

หลักการที่หนึ่ง บ่มเพาะความเชื่อในความสามารถของตนเองในการสู้รบ เวลาต้องสู้รบกับสถานการณ์เช่นปัจจุบัน การรู้สึกท้อใจ เหนื่อยล้า และเริ่มคิดว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไรเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ควรกระทำคือบอกตัวเองทุกวันว่าการหวาดกลัวและการหวาดหวั่นนั้นเป็นเรื่องธรรมดา จงหายใจลึกๆ และรับเอาความรู้สึกเหล่านี้มาเป็นเพื่อน ไม่ต้องพยายามทำให้ความรู้สึกเหล่านี้หายไป ยอมรับความเจ็บปวดอย่างนุ่มนวล

เมื่อยอมรับความรู้สึกนี้แล้วก็ถึงจุดที่ต้องคิดสะระตะว่าในอดีตเราก็เคยประสบความลำบากเช่นนี้มาก่อน แต่ก็รอดมาได้เพราะเรามีคุณลักษณะบางอย่าง เช่น ความบากบั่นมานะ ความสามารถในการปรับตัว การมีอารมณ์ขัน ความกล้าหาญ ฯลฯ พยายามนึกถึงสิ่งเหล่านี้ไว้เสมอ ประเด็นสำคัญคือเราต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถที่เรามีอยู่ข้างใน

หลักการที่สอง จงมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับผู้ที่สามารถสนับสนุนและให้กำลังใจเราอยู่เสมอ อย่าปิดกั้นตัวเอง ตัดตนเองออกไปจากบรรดาเพื่อนที่มี เราสามารถสื่อสารถึงกันได้ผ่านสื่อสมัยใหม่โดยไม่ต้องพบหน้ากัน อย่าลืมว่ามนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” ดังนั้น จึงต้องการเป็นสมาชิกของเผ่า เพราะทำให้รู้สึกปลอดภัยและมีคนสนับสนุน “คนเผ่าเดียวกัน” จะช่วยเหลือกัน ไม่เอาเรื่องการเมืองหรือเรื่องขัดแย้งส่วนตัวมาปิดกั้นการเป็นสมาชิกเผ่าเดียวกันที่มีวัตถุประสงค์ในการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือคนในบ้านเดียวกันก็ตาม ควรแชร์ความเป็นตัวตนร่วมกันมากกว่าแบ่งแยก

หลักการที่สาม พูดคุยกันเรื่องที่ต้องต่อสู้กับสภาวการณ์ ไม่ควรเก็บกดเรื่องความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ ควรระบายออกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย จดบันทึกไดอารี่ ส่งจดหมายหรือข้อความถึงคนชอบพอกันที่อยู่ห่างไกล ถ้ามีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ก็อาจจับคู่ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ผลัดกันพูดคนละ 10 นาทีเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในใจในขณะนั้นโดยไม่สอดแทรกเพื่อแชร์ความคิดและความรู้สึกร่วมกัน

หลักการที่สี่ ช่วยเหลือคนอื่นในยามลำบาก การได้ช่วยเหลือคนอื่นเพื่อลดความเจ็บปวดและเป็นประโยชน์แก่เขาอย่างแท้จริงจะช่วยลดความรู้สึกว่าเราไม่สามารถกำหนดสิ่งใดเกี่ยวกับชีวิตตนเองได้เลยลงไปได้มาก มันช่วยทำให้เรารู้สึกว่ามีความสามารถในการควบคุมและบังคับให้บางสิ่งในโลกเป็นไปดังประสงค์ของเรา อีกทั้งป้องกันเราจากความรู้สึกที่ว่าเราไม่สามารถจัดการชีวิตของเราได้เลย

ในการนี้ควรหยุดคิดและตรึกตรองเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนอื่นและดื่มด่ำกับความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้น ระวังอย่าตกอยู่ในความรู้สึกว่าต้องแบกโลกไว้บนบ่า จงทำเท่าที่สามารถมีกำลังจะทำได้ ประเด็นสำคัญคือการมีความรู้สึกที่ดีๆ เกี่ยวกับความสามารถของตนเองในการทำสิ่งที่งดงาม

หลักการที่ห้า จุดประกายอารมณ์ที่เป็นบวก เราต้องหายามาช่วยในยามที่ลำบากเช่นนี้ ดังนั้น จงพยายามมองหาอารมณ์ขันในเรื่องต่างๆ ที่เกิดรอบตัว และบ่มเพาะอารมณ์ที่เป็นบวกอยู่เสมอ นึกถึงเรื่องที่สนุกสนานมีความสุข อารมณ์ของความซาบซึ้ง ความกตัญญู ความรัก ความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ความสุขจากการกินอาหารที่ชอบ ฯลฯ

ลักการที่หก บ่มเพาะทัศนคติของการอยู่รอด หลีกเลี่ยงความรู้สึกสิ้นหวังเพราะทำให้รู้สึกว่าเราเป็นเหยื่อ ถ้าเรามุ่งคิดการเอาตัวรอดได้จากสถานการณ์ครั้งนี้ เราก็จะรู้สึกมีชีวิตชีวา ปลุกความเข้มแข็งภายในของเรา และนึกถึงว่าเราจะภูมิใจในตัวเราเองเพียงใดหลังจากที่พายุโควิดได้ผ่านไปแล้ว

เรื่องราวของการต่อสู้จนมีชีวิตรอดมาได้จากสงคราม จากความอดอยาก ฯลฯ ที่เรารับทราบจากการอ่าน การได้ยินได้ฟัง หรือจากปากคนที่เรานับถือจะเป็นพลังใจให้เราได้อย่างสำคัญ ประเด็นสำคัญคือต้องยอมรับความจริงว่าเรากำลังต่อสู้กับความยากลำบาก และเป็นสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตัวเราแต่ก็ไม่ทั้งหมด เรามีคุณลักษณะและความสามารถที่จะต่อกรกับมันได้เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ได้เคยทำมาแล้วและอยู่รอดมาได้อย่างงดงาม

หลักการที่เจ็ด มองหาความหมายจากเหตุการณ์ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือมีระบบความเชื่ออย่างไร เราสามารถหาความหมายได้จากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นได้เสมอ เช่น “พระเจ้าต้องการทดสอบความแข็งแกร่งของเรา” “อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ป่วยการคิดมาก ต้องต่อสู้กันไป” “เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้และต่อสู้ชีวิตที่ดีที่สุด” การมองหาความหมายจากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เรามีกำลังใจต่อสู้ และมองเห็นสิ่งที่เป็นบวกจากสิ่งที่ต้องประสบ

โควิด-19 ได้ระบาดและมีผลกระทบด้านลบเกิดขึ้นแล้ว เราไม่สามารถหมุนเวลากลับไปได้ สิ่งที่ควรทำที่สุดคือการต่อสู้กับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เราจะต่อสู้ได้ดีแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับวิธีคิดและการคิดของเรา หลักการทั้ง 7 ข้อ ช่วยนำทางให้เรามีพลังต่อสู้และเอาชนะมันได้ในที่สุดอย่างมีบาดแผลน้อยที่สุด

ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเราก็ตาม เวลาและทุกสิ่งดำเนินต่อไปตามเส้นทางของมันเสมออย่างไม่สามารถหยุดยื้อมันได้ “life goes on” เสมอครับ