อุตฯป้องกันประเทศ เร่ง 4 แผนพัฒนาอาวุธไทย

อุตฯป้องกันประเทศ เร่ง 4 แผนพัฒนาอาวุธไทย

หลังจากที่รัฐบาลได้มุ่งเน้นนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และยกให้เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยเพื่อการผลิตไว้ใช้งานภายใน ลดการพึ่งพาต่างประเทศ หรือแม้แต่ส่งออกเป็นรายได้อีกทรางหนึ่งนั้น

พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) เปิดเผยว่า สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้รับนโยบายมาสานต่อในภาคปฏิบัติ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้ามาสู่อุตสาหกรรมผลิตอาวุธ โดยที่ผ่านมา ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตอาวุธที่ต่อยอดจากพื้นฐานความแข็งแกร่งของไทย เช่น รถเกราะล้อยาง 4x4 ซึ่งได้ร่วมดำเนินการกับบริษัท ชัยเสรี รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถเกราะรายใหญ่ของไทย และร่วมวิจัยผลิตรถเกราะล้อยาง 8x8 รวมทั้งร่วมลงทุนพัฒนาอากาศยาน (ยูเอวี) และการผลิตปืนเล็กยาว ซึ่งบริษัทที่สถาบันฯเข้าไปร่วมลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์การยกเว้นข้อกำหนดกฎหมายบางฉบับที่เป็นอุปสรรค ทำให้ดำเนินการได้อย่างคล่องตัว รวมทั้งยังได้รับสิทธิในการส่งออกในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับผู้ซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกอาวุธของไทย

“ในสินค้ากลุ่มอาวุธยุทธปกรณ์ จะมีราคาสูงมาก หากภาคเอกชนขายในรูปแบบเอกชนกับรัฐบาลต่างประเทศจะดำเนินการได้ยาก ดังนั้นหากเปลี่ยนมาเป็นการส่งออกในรูปแบบ จีทูจี จะทำให้สินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการดำเนินงานจะเกิดความคล่องตัว ”

ทั้งนี้ ล่าสุด สถาบันได้ร่วมกับ บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด ใน การวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนเล็กรุ่น ดีทีไอ7 ซึ่งการผลิตต้นแบบปืนรุ่นนี้เริ่มขึ้นโดยการกำหนดเป้าหมาย การผลิตโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เริ่มจากวัตถุดิบซึ่งเป็นอลูมิเนียมมาตรฐานที่มีผู้ผลิตในประเทศ การขออนุญาตผลิตต้นแบบเพื่อทดสอบขีดความสามารถในการผลิตจริงโดยใช้เครื่องจักร บุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันฯ ที่มีอยู่

161496794461

จากการทดสอบปืนต้นแบบ 4 กระบอก ทั้งจากการนำไปแช่น้ำ จุ่มโคลน ทราย และนำมายิง พบว่ามีประสิทธิภาพที่ดี หลังจากนี้จะให้ เคเอสที ไปผลิต ปืนดีทีไอ7อีก 50 กระบอก ส่งมอบภายในปี 2565 เพื่อส่งให้เหล่าทัพต่าง ๆ นำไปทดสอบในสภาพการใช้งานจริงอีก 6 เดือน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ และนำจุดบกพร่องต่าง ๆมาปรับปรุงในการพัฒนาต่อไป ซึ่งปืน ดีทีไอ 7 นี้ เป็นการออกแบบเองโดยคนไทยทั้งหมด และใช้วัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ หากประสบผลสำเร็จจะทำให้ไทยพึ่งพาการผลิตอาวุธปืนได้เองภายในประเทศทั้งหมด

นอกจากจะส่งเสริมการผลิตปืนของบริษัท เคเอชที แล้วสทป. ยังได้ให้การส่งเสริมเอกชนไทยอีกหลายบริษัท รวมทั้งยังได้เตรียมที่จะดึงดูดบริษัทผลิตปืนรายใหญ่จากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทำให้การพัฒนาอาวุธปืนของไทยก้าวหน้าได้เร็วขึ้น จะมีความชัดเจนภายในปี 2564

“หากปืนที่ไทยผลิตได้เองมีมาตรฐานที่ดี ราคาถูก ทุกเหล่าทัพของไทยก็พร้อมที่จะนำมาใช้งาน ซึ่งจะทำให้ไทยพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น รวมทั้งจะส่งเสริมให้ปืนไทยไปยืนอยู่ในระดับสากล เพื่อเป็นสินค้าส่งออกต่อไป”

ส่วนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ของกองทัพเรือประมาณ 1 พันไร่ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ และอีกพื้นที่อยู่ใน จ.กาญจนบุรี เป็นที่ของกองทัพบก อาจจะมีปัญหาในเรื่องโลจิสติกส์บ้าง แต่ก็มีจุดเด่นในเรื่องขนาดพื้นที่กว้างขวางขนาดใหญ่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2564

พล.อ.อ.ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการ สทป. กล่าวว่าปีงบประมาณ 2564 สทป. มีโครงการนำร่องในการร่วมทุนเพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการอากาศยานไร้คนขับ(ยูเอวี) ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ซึ่ง สทป. เองได้มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับร่วมกับภาคเอกชนเพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันและภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม

161496800686

2. โครงการอาวุธและกระสุน สทป. เล็งเห็นว่าปืนถือเป็นอาวุธประจำกายที่สำคัญและมีความต้องการจำนวนมาก และการจัดหาจากต่างประเทศก็มีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น ข้อจำกัดด้านราคา ข้อจำกัดด้านเวลา ข้อจำกัดทางเทคนิค และข้อจำกัดด้านกฏหมาย ซึ่งภาคเอกชนในประเทศไทยมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การผลิต การประกอบรวม การปรับปรุง การเปลี่ยนลักษณะการแปรสภาพรวมถึงสามารถซ่อมบำรุง ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ ประหยัดงบประมาณ และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

3. โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (โอพีวี) ในปัจจุบันกองทัพเรือบางประเทศในอาเซียนดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานในประเทศไทยมีอู่ต่อเรือที่มีศักยภาพต่อเรือประเภทนี้ที่สามารถดำเนินการต่อเรือได้ โดยจะดำเนินการจัดหาในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

4. โครงการยานเกราะล้อยางแบบ 4X4 เนื่องจากมีบางประเทศในอาเซียนได้กำหนดโครงการปรับปรุงกองทัพ และมีความต้องการจัดหารถเกราะล้อยาง โดยบริษัทเอกชนของไทยได้เข้าแข่งขันและได้รับการคัดเลือกเป็นลำดับที่ 1 สทป. จึงได้ประกาศโครงการร่วมทุนผลิตยานเกราะล้อยางแบบ 4X4 กับบริษัทเอกชน

“สทป. จะเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่เป็นโครงการเดิม ควบคู่ไปกับการดำเนินการโครงการใหม่ในรูปแบบการบูรณาการ และเป็นเทคโนโลยี 2 ทางที่ใช้งานได้ทั้งทหาร และพลเรือน นอกจากจะทำให้กองทัพไทยพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย