'สถาบันปาสเตอร์' ยันไม่พบเบาะแสต้นตอโควิดในไทย

'สถาบันปาสเตอร์' ยันไม่พบเบาะแสต้นตอโควิดในไทย

"นักวิจัยสถาบันปาสเตอร์" ชี้ชัดเจนแล้วว่า ตู้แช่แข็งในห้องปฏิบัติการ ในกรุงพนมเปญ และท่อระบายน้ำชลประทานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในไทย ไม่ใช่ต้นกำเนิดโควิด-19

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อไม่นานนี้สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) ได้รายงานว่า คณะนักวิจัยทางการแพทย์พบว่า ตู้แช่แข็งของห้องปฏิบัติการในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา และท่อระบายน้ำชลประทานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในไทย ไม่ใช่สถานที่ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการแกะรอยต้นกำเนิดของโรคโควิด-19

คณะนักวิจัยจากสถาบันปาสเตอร์ (Institut Pasteur) ได้ศึกษาตัวอย่างที่เก็บจากค้างคาวมากกว่า 400 รายการ และเก็บรักษาไว้ในตู้แช่แข็งของธนาคารทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งพวกเขาพบว่า เชื้อไวรัสจากค้างคาวอายุนับสิบปีรายการหนึ่งนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ถึง 92.6% ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ กลุ่มแรกที่ถูกค้นพบนอกประเทศจีน

คณะนักวิจัยของกัมพูชาไม่พบข้อบ่งชี้ที่ว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวดังกล่าว จะทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์เหมือนกับเชื้อโควิด-19

ด้านผลการศึกษาอีกฉบับของคณะนักวิจัยในไทย ซึ่งเก็บตัวอย่างจากค้างคาวจำนวน 100 ตัวที่อาศัยอยู่ในท่อระบายน้ำชลประทานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งพบว่า เชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่พบมีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อโควิด-19 ถึง 91.5% ในระดับจีโนมทั้งหมด

หวัง หลินฟา ผู้อำนวยการโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่สังกัดโรงเรียนแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และมหาวิทยาลัยดุ๊กแห่งสหรัฐ (Duke-NUS Medical School) ในสิงคโปร์เปิดเผยว่า ผลตรวจเลือดบ่งชี้ว่าค้างคาวบางส่วนเคยติดเชื้อไวรัสที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อโควิด-19 มากกว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่พบในไทย

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า การค้นพบเหล่านี้บ่งชี้ว่า มีเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่เชื่อมโยงกับโรคโควิด-19 กระจายตัวเป็นวงกว้างในเอเชีย โดยนายหวังกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เชื้อโควิด-19 ในบรรพบุรุษค้างคาวหรือเชื้อไวรัสในสัตว์ตัวกลาง อาจจะมีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความหลากหลายของค้างคาวมากกว่าในประเทศจีน