'เจ้าสัวเจริญ' โกยกำไรเหล้า-เบียร์  ไตรมาส 1 อู้ฟู่! 9,541 ล้านบาท โต 3.6%

'เจ้าสัวเจริญ' โกยกำไรเหล้า-เบียร์   ไตรมาส 1 อู้ฟู่! 9,541 ล้านบาท โต 3.6%

โควิดระบาดรอบแรก ธุรกิจยังไม่ฟื้น โค้งสุดท้ายปี 63 ไวรัสรอบใหม่ซัดการค้าขายอ่วมอีกครั้ง แต่ "ไทยเบฟ" อาณาจักรของ "ราชันย์น้ำเมา" อย่าง "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ยังบริหารจัดการดี แม้ไตรมาส 1 ยอดขายหดตัว 5.1% แต่ "กำไร" ยังโต 3.6% เสริมมั่งคั่ง

ปี 2563 ธุรกิจต้องเผชิญหน้าวิกฤติครั้งใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบาดแบบมาราธอน แม้การล็อกดาวน์จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่เล่นงานการค้าขายให้อ่วม ครั้นคลายล็อกดาวน์ช่วงกลางปี แต่ยังมีบางเซ็กเตอร์ที่ยังให้บริการ ทำมาค้าขายได้ไม่เต็มที่นัก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ เหล้า-เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ซึ่งมีช่องทาง On-Premise อย่างผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ ค่อนข้างมาก 

ขณะที่โค้งสุดท้ายของปี ประเทศไทยยังต้องเจอการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ช่องทางจำหน่ายเหล้าเบียร์อย่าง On-Premise ถูกปิดก่อนและเปิดทีหลัง ทั้งนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) อาณาจักรอาหารและเครื่องดื่ม(น้ำเมา)ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีมีทายาท ฐาปน สิริวัฒนภักดีนำทัพธุรกิจ เลี่ยงผลกระทบยาก 

สำหรับไทยเบฟ กำหนดปีงบประมาณระหว่าง ตุลาคม 63- กันยายน 64 และไตรมาส 1 บริษัทอาจจะได้รับผลกระทบด้าน ยอดขาย ที่ หดตัว ทว่า ความสามารถในการทำกำไรยังคงยอดเยี่ยม เพราะสะท้อนถึงการบริหารจัดการจนฝ่าวิกฤติโรคระบาด เศรษฐกิชะลอตัว กำลังซื้อหดหาย  

ส่องภาพรวมผลประกอบการของไทยเบฟในไตรมาส 1 มียอดขายรวม 71,789 ล้านบาท ลดลง  5.1% หรือคิดเป็นมูลค่า 3,891 ล้านบาท  เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบส่วน กำไรสุทธิ อยู่ที่ 9,541 ล้านบาท เติบโต 3.6% หรือคิดเป็นมูลค่า  328 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าพระเอกที่ทำกำไรเพิ่ม ยังคงเป็น เหล้า-เบียร์รวมถึงธุรกิจ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

161500157918

ทั่้งนี้ ธุรกิจแต่ละประเภท ทำเงินให้กับไทยเบฟ ดังนี้ สุรา มียอดขายสัดส่วน 48.4% ตามด้วยเบียร์ 42.1% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 5.2% อาหาร 4.4% ธุรกิจที่ตัดทิ้ง -0.1% ส่วนการทำกำไรนั้น สุรายังเป็นหัวใจสำคัญทำสัดส่วน 79.3% เบียร์ 19% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 1.5% และอาหาร 0.2% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่มาก 

เมื่อแยกยอดขายและกำไรตามรายธุรกิจ ไตรมาส 1 สุราโกยยอดขาย 34,771 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 1.0% หรือคิดเป็นมูลค่า 351 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% หรือคิดเป็นมูลค่า  224 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เบียร์ ยอดขาย  30,221  ล้านบาท ลดลง 9% หรือคิดเป็นมูลค่า 3,001 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,732 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น  91.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 826 ล้านบาท เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ยอดขาย 3,707 ล้านบาท ลดลง 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 507 ล้านบาท กำไรสุทธิ 136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 19 ล้านบาท 

ส่วนธุรกิจอาหาร มียอดขาย 3,128 ล้านบาท ลดลง 19.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 746 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15 ล้านบาท ลดลง 90.3% หรือคิดเป็นมูลค่า  140 ล้านบาท 

ขณะที่ยอดขายเชิงปริมาณ เป็นดังนี้  สุราอยู่ที่ 189.9 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 0.3% เบียร์ รวมทั้งไทยเบฟและไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น(SABECO)  646.7 ล้านลิตร ลดลง  11.6% เมื่อแยกซาเบโก้ ยอดขายเบียร์ไทยเบฟอยู่ที่ 236.6 ล้านลิตร ลดลง 6.5% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 346.8 ล้านลิตร ลดลง 13.1% หรือคิดเป็น 52.5 ล้านลิตร แยกย่อยลงไปแต่ละหมวดหมู่สินค้า น้ำอัดลมยอดขายลดลง 15.6 ล้านลิตร น้ำดื่มลดลง 33 ล้านลิตร ชาพร้อมดื่มลดลง 1.3 ล้านลิตร จับใจลดลง 2.5 ล้านลิตร ฮันเดรดพลัสลดลง 0.3 ล้านลิตร ด้านยอดขายโซดาอยู่ที่ 11.9 ล้านลิตร ลดลง 6.9% ส่วนโซดาช้างและน้ำดื่มช้างอยู่ที่ 12.2 ล้านลิตร ลดลง 33.6% 

อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟมีการแยกธุรกิจเบียร์ออกมมา ภายใต้เบียร์โค กรุ๊ป”(BeerCo Group) ซึ่งผลประกอบการไตรมาส 1 ยอดขายลดลง  11.4%  อยู่ที่ 1,322.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นมูลค่า 30,064 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน 1,492.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น 33,916 ล้านบาท โดยยอดขายเบียร์ในไทยลดลง 8.2% อยู่ที่  741.4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น  16,850 ล้านบาท และเวียดนามยอดขายหดตัว 15.1% อยู่ที่ 581.4 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น 13,214 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากโรคโควิด-19 ระบาด กระทบการบริโภค พบปะมีกิจกรรมสังสรรค์ต่างๆ ส่วนเวียดนามมีการบังคับใช้กฎหมายการทำตลาดและโฆษณาเบียร์ เข้มงวดการลงโทษดื่มแล้วขับ 

ด้านกำไรสุทธิเบียร์โค กรุ๊ป อยู่ที่ 130.0 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น 2,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% หรือ 79.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น 1,802 ล้านบาท  

161500372722

พอร์ตโฟลิโอ BeerCo มีทั้งเบียร์ในไทยและเวียดนาม 

อย่างไรก็ตาม เหตุผลการแยกธุรกิจเบียร์ออกมาอยู่ภายใต้ BeerCo เพื่อเดินหน้า “สร้างแพลตฟอร์มเบียร์” ที่ “ใหญ่สุดในอาเซียน” โดยมีทีมผู้บริหารที่มากความสามารถ และการปรับโครงสร้างที่พร้อมแล้วในการโฟกัสตลาดเบียร์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้พอร์ตโฟลิโอและแบรนด์เบียร์ที่เป็น “แชมป์” ในแต่ละประเทศครองตลาดที่มีการเติบโตสูง รวมถึงต่อยอดการหา “พันธมิตรเบียร์” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจต่างประเทศ สร้างยอดขาย 16,712 ล้านบาทท ลดลง 10% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเบียร์ยอดขายลดลง 13% ทั้งในส่วนของซาเบโก้ และตลาดอาเซียน ส่วนสุรายอดขายเพิ่มขึ้น 13% จากการขายเป็นลังของสก๊อตวิสกี้ และสุราจีนที่ขายเป็นเบาท์หรือปริมาณมากๆ  รวมถึงรายได้จากแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป(GRG)ในเมียนมา เป็นผลจากค่าเงินจ๊าดพม่าแข็งค่าขึ้น