ผลกระทบจากCOVID-19   ต่อการเดินทางเชิงธุรกิจ

กระแส work from anywhere ส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลกหันมาใช้โปรแกรมการทำงานร่วมกันแบบออนไลน์มากขึ้น

กระแส work from anywhere ส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลกหันมาใช้โปรแกรมการทำงานร่วมกันแบบออนไลน์มากขึ้น เช่น โปรแกรมการประชุมออนไลน์ โปรแกรมการบริหารงานออนไลน์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง โปรแกรมการทำงานร่วมกันผ่านระบบออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นก็ส่งผลกระทบให้ตลาดการเดินทาง เชิงธุรกิจทั่วโลกที่มีมูลค่ารวมกันถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างที่ไม่เคย เกิดขึ้นมาก่อน

สำนักวิจัยระดับโลกหลายแห่งคาดการณ์ว่า 20-25% ของมูลค่าตลาดการเดินทางเชิงธุรกิจจะหายไป อย่างถาวรหลังพ้นจากวิกฤติ COVID-19 เพราะองค์กรต่าง ๆ จะปรับลดงบประมาณที่เคยจัดสรรไว้สำหรับการเดินทางที่สามารถทดแทนได้ด้วยการทำงานร่วมกันแบบออนไลน์ในปัจจุบัน เช่น การเดินทางเพื่อประชุมภายในองค์กร การตรวจสอบภายใน หรือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า อย่างไรก็ตาม การพบปะทางธุรกิจที่จำเป็นต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น การเข้าพบคู่ค้ารายใหม่หรือการเจรจาทางธุรกิจที่สำคัญจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ในขณะเดียวกัน ธุรกิจ event organizer ที่รับบริหารจัดการงานประชุม – สัมมนาขนาดใหญ่ ก็มีการนำเทคโนโลยีการจัดงานแบบผสมผสานทั้งการเข้าร่วมงานแบบออฟไลน์และออนไลน์มาใช้เป็นวงกว้างแล้ว ซึ่งยิ่งผลักดันให้จำนวนนักเดินทาง เชิงธุรกิจมีแนวโน้มลดลงในอนาคต

นอกจากนี้ บทความของ McKinsey ชี้ว่าการเดินทางเชิงธุรกิจเป็นกลุ่มที่มักจะฟื้นตัวจากวิกฤติได้ช้าที่สุด ในตลาดการเดินทางทั่วโลก เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับสถานะทางการเงินของบริษัทต่าง ๆ ค่อนข้างสูง โดยหลังจากช่วงวิกฤติ Subprime crisis ตลาดการเดินทางเชิงธุรกิจต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับเดิม ในขณะที่การเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจใช้เวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น การขาดหายไปของนักเดินทางเชิงธุรกิจบางกลุ่มและการฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าของการเดินทางเชิงธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ MICE (Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน ศูนย์จัดประชุมและนิทรรศการ ธุรกิจ event organizer ฯลฯ

ในปี 2019 ไทยมีนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจราว 1.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 4.5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ ชลบุรี และระยอง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางธุรกิจและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งนี้ในปัจจุบันภาครัฐได้กำหนดให้เมืองพัทยา เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม MICE ของพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของตลาดการเดินทางเชิงธุรกิจที่ไม่สดใสนักหลังวิกฤติ COVID-19 อาจส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เช่น โรงแรมที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักธุรกิจ ซึ่งมักมีห้องประชุมและห้องพักจำนวนมากอาจต้องให้ความสำคัญกับตลาดงานจัดเลี้ยง งานแต่งงานและการให้บริการ catering แก่บุคคลภายนอกมากขึ้น ในขณะที่ ศูนย์ประชุมอาจต้องพึ่งพารายได้จากงานจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากงานประชุม-สัมมนาเชิงวิชาชีพที่จะมีผู้เข้าร่วมงานแบบออฟไลน์ลดลงในอนาคต

นอกจากการปรับตัวของภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐอาจส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม MICE ในพื้นที่ได้ โดยประสานงานกับผู้จัดงานอีเวนต์ระดับโลกให้เข้ามาจัดงานในพื้นที่ EEC มากขึ้น ดังเช่นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Thailand International Airshow) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียในปี 2023 ที่สนามบินอู่ตะเภา สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่ EEC ตามเป้าหมายของรัฐบาล และอาจขยายผลไปถึงการดึงงานอีเวนต์ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ตามแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เข้ามาจัดงานในพื้นที่ด้วยเช่นกัน