เปิดกระป๋อง'ทูน่า'ไทย ในมิติที่มากกว่าราคา

เปิดกระป๋อง'ทูน่า'ไทย ในมิติที่มากกว่าราคา

'เปิดกระป๋องแบรนด์ทูน่าไทย' แพลตฟอร์มออนไลน์ล่าสุดจากกรีนพีซ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายแรงงาน และความโปร่งใสของแบรนด์ทูน่าไทย ผ่านการเล่าเรื่อง

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก แม้ในยุคโควิดที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แต่อุตสาหกรรมทูน่ายังคงโตสวนทาง

โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 อุตสาหกรรมส่งออกทูน่าไทยขยายตัวถึง 5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นรายได้รวมกว่า 2,583.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ[1] 

161493422128

อย่างไรก็ดี การประมงทูน่าเป็นอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปลาทูน่าส่วนใหญ่ถูกจับจากมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ก่อนส่งต่อไปยังบริษัทผู้ค้าปลาทูน่า เช่น ไต้หวัน และส่งต่อมายังบริษัทแปรรูปในประเทศไทย

จากรายงานของกรีนพีซ ไต้หวัน พบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบนเรือในไต้หวันโดนกดค่าจ้าง และต้องทำงานบนเรือเป็นระยะเวลานาน [2]

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่ามีการใช้เรืออวนล้อมแบบใช้เครื่องมือล่อปลา หรือการใช้เบ็ดราว เป็นวิธีจับปลาแบบไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้ปลาชนิดอื่น เช่น ฉลาม เต่า และลูกทูน่า ถูกจับขึ้นมาพร้อมกับปลาทูน่าและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

ไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกทูน่าที่สำคัญของโลก และปัจจุบันมีแบรนด์ทูน่ากระป๋องหลายแบรนด์ให้เลือก แต่ผู้บริโภคยังคงเข้าไม่ถึงข้อมูลสำคัญของสินค้าในหลายๆด้านของแบรนด์เหล่านี้

 ปัจจุบัน มีทูน่ากระป๋องหลายแบรนด์วางเรียงรายบนชั้นสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตให้เลือกสรร แต่ผู้บริโภคไทยกลับไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลสำคัญ เช่น แหล่งที่มาของปลา วิธีที่ใช้จับ หรือสิทธิแรงงาน มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ 

 “ที่ผ่านมากรีนพีซได้จัดรายงานจัดอันดับแบรนด์ทูน่ากระป๋องมาอย่างต่อเนื่อง และนี่เป็นครั้งแรกที่นำวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่มาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีประสบการณ์เหมือนกับกำลังเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน และได้รู้จักที่ไปที่มาของปลาทูน่าในกระป๋องไปด้วยพร้อมๆ กัน” 

แพลตฟอร์ม เปิดกระป๋องแบรนด์ทูน่าไทย ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้บริโภคตัดสินใจก่อนหยิบทูน่ากระป๋องลงตระกร้า ผ่านการจำลองให้ผู้ใช้เลือกแบรนด์ทูน่าหนึ่งจาก 9 แบรนด์ชั้นนำเมืองไทย 

 หลังจากนั้นแพลตฟอร์มจะเผยอันดับความยั่งยืนของแบรนด์ที่ผู้ใช้เลือก ก่อนจะพาย้อนดูว่าทูน่าในกระป๋องที่เลือกถูกจับขึ้นมาด้วยวิธีใด บริษัทมีนโยบายการปกป้องแรงงานอย่างไร และมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้บริโภค เช่น ที่มาของปลาทูน่า พันธุ์ปลาทูน่า เครื่องมือจับปลา มากขนาดไหน 

 ข้อมูลที่ปรากฎบนแพลตฟอร์มอ้างอิงมาจาก รายงานการจัดอันดับความยั่งยืนปลาทูน่ากระป๋อง ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นรายงานจัดอันดับคะแนนความยั่งยืนของแบรนด์ทูน่ากระป๋องในไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่กรีนพีซจัดทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว หากแต่ถูกนำมาย่อยและเล่าใหม่ให้เข้าใจง่ายโดยอาศัยการเล่าเรื่องผ่านข้อมูลและดีไซน์ 

นอกจากนั้น ผู้ใช้ยังสามารถส่งข้อความไปหาแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่ชื่นชอบ เพื่อเรียกร้องปรับปรุงและร่วมแก้ปัญหาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน และด้านความโปร่งใสในอุตสาหกรรมทูน่าไทยต่อไป

สามารถเข้าชมแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดกระป๋องแบรนด์ทูน่าไทย ได้ที่ https://tuna2020.greenpeace.or.th

 

...........
หมายเหตุ

[1]  www.thairath.co.th/news/business/market-business/1957054

[2] รายงาน เส้นทางการบังคับใช้แรงงานของลูกเรือประมงในโลกยุคใหม่ สามารถอ่านได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/publication/10242/ocean-seabound-modern-slavery-at-sea-executive-summary/