“สุพัฒนพงษ์”ยันเมกะโซลาร์ทบ.-อีอีซีแค่แผนศึกษา

“สุพัฒนพงษ์”ยันเมกะโซลาร์ทบ.-อีอีซีแค่แผนศึกษา

“สุพัฒนพงษ์” ยัน โซลาร์ฟาร์ม กองทัพบก 3 หมื่นเมกะวัตต์ และอีอีซี อีก 500 เมกะวัตต์ เป็นแค่การศึกษา ต้องรอผลก่อนสรุปบรรจุในแผนพลังงานแห่งชาติหรือไม่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีกองทัพบก(ทบ.) มีแผนจะจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม) พื้นที่ราชพัสดุของทบ.ที่คาดการณ์ว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 30,000 เมกะวัตต์ และกรณีโครงการโซลาร์ฟาร์มพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เป้าหมายระยะแรก ผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์นั้น

ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ยังเป็นเพียงการศึกษาเท่านั้น ซึ่งจะต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ก่อน ส่วนจะบรรจุโครงการลงในแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ที่ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำแผนฯหรือไม่นั้น ก็ยังจำเป็นต้องรอดูรายละเอียดผลการศึกษาความเป็นไปได้ของทั้ง 2 โครงการด้วย

“ก็อยู่ในขั้นศึกษา มันต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วย ผมว่าความปรารถนาดีของหลายๆหน่วยงานในเมืองไทยมีมาก เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เราจึงต้องบูรณาการจะเห็นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ จะเป็นพลังงานน้ำ หรือ พลังงานอะไรก็แล้วแต่คงจะต้องมานั่งคุยกันอีกที ซึ่งกองทัพบก ก็ยังไม่ได้บอกว่า จะทำปริมาณเท่าไหร่ เวลาไหน เขาไปศึกษา มีโอกาส มีความเป็นไปได้ ก็เป็นความปรารถนาดี ของหน่วยงานทุกๆฝ่าย รวมถึงโซลาร์อีอีซี ก็ต้องศึกษาความเหมาะสมเช่นกัน”

ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ นั้นยังต้องหารือร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ การไฟฟ้า บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นต้น เพื่อกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนให้ไทยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)เป็นศูนย์ และการเพิ่มสัดส่วนการให้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบในปัจจุบัน จากระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 15-20% นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้การใช้ไฟฟ้าไม่เติบโตตามเป้าหมายจึงส่งผลให้สำรองไฟ้ฟาสูงขึ้น แต่ขณะนี้เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวก็น่าจะส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเริ่มกลับมาเช่นกัน และในอนาคตอาจจะสูงขึ้น หากมีเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และการใช้ศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ต่างๆเพิ่มขึ้น

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศเจนารมณ์ ในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “ Breathe our future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต”

โดยในส่วนของ กฟผ. จะมุ่งเน้นการพัฒนาและสนับสนุนพลังงานสะอาด ทั้ง โซลาร์ลอยน้ำ(Floating Solar) รถอีวี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้พิจารณาแนวทางส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ในการหุงอาหารจำนวนมาก ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนราคา

รวมถึงมอบหมายให้ กฟผ.พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (E-Bike) ที่ กฟผ.ได้พัฒนาแบรนด์ EGAT E-Bike ให้เป็นราคาที่ผู้บรอโภคเข้าถึงได้ หลังพบว่าปัจจุบันราคารถเมื่อรวมแบตเตอรี่ ยังสูงอยู่ที่คันละ 8.5 หมื่นบาท ซึ่งแบตเตอรี่ คิดเป็น 50% ของต้นทุนราคา ดังนั้น อาจจะพิจารณาเรื่องของการขายเฉพาะตัวรถ ส่วนแบตเตอรี่อาจจัดทำเป็นลักษณะให้ซื้อหรือเช่าเฉพาะ เหมือนกับระบบการเปลี่ยนถัง LPG ปัจจุบัน เพื่อให้รถอีวีสามารถแข่งขันได้ ซึ่งกฟผ.จะนำนโยบายดังกล่าว ไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่ภาคการปฏิบัติต่อไป