ความท้าทายการประเมินโซ่อุปทานสีเขียว

ความท้าทายการประเมินโซ่อุปทานสีเขียว

ตัวชี้วัดทั้ง 4 มีความแตกต่างกันในหน่วยวัดและไม่ได้มีค่าไปในทิศทางเดียวกันหรือแปรค่าให้อยู่ในหน่วยเดียวกันได้

จากการวิเคราะห์อุตสาหกรรมของธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตพบว่า ลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูงจากการมี Switching Cost ต่ำ โดยสามารถเปลี่ยนไปใช้บริการคู่แข่งหรือร้านค้าปลีกรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถนำเสนอสินค้าแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกันได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีช่องทางออนไลน์ หรือ E-Commerce เป็นอีกทางเลือกสำคัญในการซื้อหาสินค้า โดยมีราคาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่มีฐานะปานกลางลงมา

อุปสงค์ของลูกค้าที่อยู่ปลายน้ำของโซ่อุปทานจึงถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่กำหนดทิศทางของการดำเนินธุรกิจและการจัดการโซ่อุปทานของไฮเปอร์มาร์เก็ต การนำเสนอผลิตภัณฑ์สีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ต้องแลกมาด้วยราคาสินค้าที่สูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมีความคิดว่าการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลให้ผู้ผลิตต้องลดคุณภาพสินค้าลงจนทำให้อายุการใช้งานของสินค้าสั้นลงตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความสิ้นเปลืองให้กับผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าถี่ขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างขยะเข้าสู่ระบบนิเวศมากขึ้นตามไปอีก ซึ่งเป็นการลดทอนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสายตาผู้บริโภค

การสร้างความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวจึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาต้องอาศัยการประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง โดยปัจจุบัน การประเมินระดับและจัดประเภทผลิตภัณฑ์สีเขียวหรือผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากที่จะสามารถระบุได้อย่างแม่นยำว่า ผลิตภัณฑ์ใดเป็น 'ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน' หรือ 'เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม' มากกว่ากัน

เนื่องจากการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถพิจารณาได้หลากหลายมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปริมาณการสร้างขยะและความสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากร ซึ่งบ่อยครั้งการบรรลุการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในมิติหนึ่ง อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นอกจากนี้ การสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายกิจกรรมตลอดโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ เช่น 

การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บสินค้า การขนส่งและกระจายสินค้า การทำโลจิสติกส์ย้อนกลับ การรีไซเคิล และการกำจัดสิ่งปฏิกูล ทำให้การวัดค่าความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขอ

ผลิตภัณฑ์อาจมีการทับซ้อน ตกหล่นหรือผิดพลาดในบางกิจกรรมได้

ตัวอย่างเช่น การจัดการโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) ที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมด้านโลจิสติกส์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย

(1) การจัดโครงสร้างทางกายภาพของระบบโลจิสติกส์

(2) การจัดหาและการกระจายสินค้า

(3) การจัดตารางการขนส่งสินค้า

(4) การจัดการกับทรัพยากรที่ใช้ในการขนส่ง 

โดยตัวอย่างตัวชี้วัดของการจัดการโลจิสติกส์สีเขียวในระดับ 4 (การจัดการกับทรัพยากรที่ใช้ในการขนส่ง) ได้แก่

1)อัตราการใช้พลังงาน

2)การใช้เทคโนโลยี เช่น การใช้ระบบสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ในการบริหารกองยานพาหนะ อายุและรูปแบบของยานพาหนะ เครื่องทำความเย็น ยางรถยนต์ ระบบเครื่องยนต์และชนิดของเชื้อเพลิง เป็นต้น

3)อัตราการบรรทุกสินค้า รวมถึงสัดส่วนการวิ่งเที่ยวเปล่า

4)การปล่อยก๊าซพิษ 

จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดทั้ง 4 มีความแตกต่างกันในหน่วยวัดและไม่ได้มีค่าไปในทิศทางเดียวกันหรือแปรค่าให้อยู่ในหน่วยเดียวกันได้ ทำให้ไม่สามารถประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของการจัดการทรัพยากรที่ใช้ในการขนส่งได้อย่างชัดเจน ซึ่งคราวหน้าเราจะมาพูดกันถึงความท้าทายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางเบื้องต้นในการจัดการกับปัญหา