หนังเล่าโลก The Loving Generation ‘ข้าวนอกนาอเมริกัน’

หนังเล่าโลก The Loving Generation ‘ข้าวนอกนาอเมริกัน’

หนังเล่าโลก The Loving Generation ‘ข้าวนอกนาอเมริกัน’ โดยในสหรัฐมีลูกครึ่งที่เกิดจากคนอเมริกันเหมือนกัน แต่ฝ่ายหนึ่งผิวขาวอีกฝ่ายผิวดำหรือผิวสี ลูกที่เกิดมามีปัญหาด้านอัตลักษณ์ว่าจะนิยามตนเองเป็น “ผิวดำ” หรือ “ลูกครึ่ง”

เมื่อพูดถึง “ลูกครึ่ง” เรามักคิดถึงลูกที่เกิดจากการแต่งงานกับคนต่างชาติ แต่ในสหรัฐกลับมีลูกครึ่งที่เกิดจากคนอเมริกันเหมือนกัน แต่ฝ่ายหนึ่งผิวขาวอีกฝ่ายผิวดำหรือผิวสี ลูกที่เกิดมามีปัญหาด้านอัตลักษณ์ว่าจะนิยามตนเองเป็น “ผิวดำ” หรือ “ลูกครึ่ง” เพราะการจะเป็นคน “ผิวขาว” นั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ปัญหานี้ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในภาพยนตร์เรื่อง The Loving Generation

The Loving Generation เป็นผลงานการกำกับของ Lacey Schwartz และ Mehret Mandefro บอกเล่าเรื่องราวของลูกครึ่งที่เกิดหลังคดีประวัติศาสตร์ระหว่างครอบครัวเลิฟวิงกับรัฐเวอร์จิเนียในปี 2510 รัฐเวอร์จิเนียเป็นหนึ่งในหลายรัฐที่ไม่อนุญาตให้คนขาวกับคนดำแต่งงานกัน ริชาร์ด เลิฟวิง ชายผิวขาว กับมายด์เรด เจเตอร์ หญิงลูกผสมแอฟริกันอเมริกันกับอเมริกันพื้นเมืองต้องแอบแต่งงานกันที่วอชิงตันดีซีในปี 2501 เพราะรัฐเวอร์จิเนียไม่อนุญาต แต่เมื่อกลับมายังภูมิลำเนาทั้งคู่ถูกตำรวจจับฐานฝ่าฝืนกฎหมายห้ามแต่งงานข้ามเชื้อชาติ

คดีนี้ต่อสู้กันถึงศาลสูง ปี 2510 ศาลพิพากษาให้ล้มล้างกฎหมายห้ามการสมรสระหว่างคนต่างผิวทุกบทของสหรัฐฯ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในยุคนั้น พูดง่ายๆ คือการห้ามแต่งงานข้ามสีผิวเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ คนอเมริกันทุกคนสามารถแต่งงานกันได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสีผิวหรือเชื้อชาติ

ภาพยนตร์ The Loving Generation ไม่ได้พูดถึงคดีแต่พูดถึงลูกที่เกิดจากความสัมพันธ์ต่างสีผิวในเวลานั้น หรือคนที่เกิดระหว่างปี 2508-2528 อันเป็นผลพวงจากคำพิพากษาศาลสูงคดีดังกล่าว

ลูกที่เกิดมาหลายคนนิยามตนเองว่า เป็นคนดำ แต่พอจะเข้าร่วมสังคมคนดำก็มีปัญหาว่า ตนเองยัง “ดำไม่พอ” บางคนพบว่าแม้ปู่ย่าตายายและญาติๆ ผิวขาวจะรักตนเองในฐานะหลาน แต่ความไม่สนิทใจชนิด “กินน้ำเห็นปลิง” ยังมีอยู่และเด็กลูกครึี่งสัมผัสได้ ส่วนเรื่องที่แม่เป็นคนถ่ายทอดวัฒนธรรมให้กับลูกนั้น ครอบครัวที่มีแม่ผิวขาวจะถ่ายทอดวัฒนธรรมคนดำให้กับลูกได้อย่างไร แม่ผิวขาวบางคนทำผมทรงคนดำให้ลูกสาวไม่ได้ด้วยซ้ำ

ลูกครึ่งคนหนึ่งมีแม่เป็นคนขาวสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มีแนวคิดขวาจัดและกระตุ้นให้เกิดการเหยียดผิวรุนแรงช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี ความเจ็บปวดของชายคนนี้คือเมื่อต้องคุยเรื่องการเมือง แม่ของเขายืนหยัดแนวคิดความเหนือกว่าของคนขาวตามแนวทรัมป์ ใส่เสื้อ “Make America Great Again” อันเป็นสโลแกนหาเสียงของทรัมป์ ทั้งๆ ที่ลูกชายตนเองคือเหยื่อคนหนึ่งของทัศนคติขวาจัด

ส่วนลูกครึ่งที่โด่งดังที่สุดของสหรัฐคงหนีไม่พ้น ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้มีพ่อเป็นชาวเคนยา แม่เป็นชาวเมืองแคนซัส แต่ต่อมาแม่ไปแต่งงานกับชาวอินโดนีเซียที่มาเรียนในสหรัฐ แล้วย้ายไปอยู่จาการ์ตาตั้งแต่โอบามาอายุได้ 6 ขวบ เขาเป็นประธานาธิบดีลูกครึ่งคนแรกแต่ประกาศตัวว่าจะเป็นประธานาธิบดีของคนผิวดำ ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งของประวัติศาสตร์สหรัฐ

Lacey Schwartz ผู้กำกับร่วมเล่าว่า การผสมข้ามเชื้อชาติเกิดขึ้นนานแล้วโดยเฉพาะในสหรัฐ ความเชื่อเกี่ยวกับสายเลือดบริสุทธิ์ไม่มีอยู่จริง เมื่อคนดำ คนขาวมาแต่งงานกัน ลูกที่เกิดมามองตัวเองแตกต่างกัน เธอเองเป็นหนึ่งในคนรุ่นนี้ที่มองตนเองว่าเป็นลูกครึ่ง และสำหรับเธอการเป็นลูกครึ่งก็คือการเป็นคนดำ แต่กว่าจะมาถึงจุดของการยอมรับตนเอง Lacey ก็เคยต้องค้นหาคำตอบเนื่องจากเธอมีพ่อแม่เป็นคนยิวผิวขาว แต่รูปลักษณ์ของ Lacey แตกต่างจากพี่น้องคนอื่นๆ จนโตเป็นวัยรุ่นเธอจึงรู้ว่า พ่อแท้ๆ ของเธอคือคนดำที่แม่แอบไปมีสัมพันธ์ลับด้วย

"ความซับซ้อนของเชื้อชาติและตัวตนคือบางครั้งอยู่ภายใน บางครั้งก็อยู่ภายนอก ประเด็นคือความรู้สึก ความคิด รวมถึงสิ่งที่โลกภายนอกบอกกับคุณ" ผู้กำกับร่วมกล่าว

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับโครงการ American Film Showcase กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และ Documentary Club นำ The Loving Generation มาจัดฉายเพื่อเฉลิมฉลองเดือนแห่งประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ช่วยให้เห็นปัญหาที่คนไทยแทบจะนึกภาพไม่ออก อีกมุมหนึ่งภาพยนตร์ยังชี้ให้เห็นว่า คนดำ คนพื้นเมืองอเมริกัน และคนขาวอยู่ร่วมกันในแผ่นดินสหรัฐมานานแล้ว การที่คนขาวจะมาอ้างความเหนือกว่าย่อมไม่ใช่เรื่องถูกต้อง