"เลขาฯประธานรัฐสภา" เผย นัดโหวต "ร่างรัฐธรรมนูญ" วาระสามได้ แม้ "หมวดส.ส.ร." ตีตก

"เลขาฯประธานรัฐสภา" เผย นัดโหวต "ร่างรัฐธรรมนูญ" วาระสามได้ แม้ "หมวดส.ส.ร." ตีตก

"เลขานุการประธานรัฐสภา" ไขข้อกฎหมาย รัฐสภา นัดโหวต ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามได้ แม้ "ส.ส.ร." ถูกตีตก -รัฐธรรมนูญล็อคต้องให้ความเห็นชอบทั้งฉบับ

       นายราเมศ รัตนเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ขอให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการให้อำนาจ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 4 มีนาคม ว่า ต้องติดตามการพิจารณาและคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยส.ส.ร. ไม่สามารถทำได้ จะทำให้ประเด็นดังกล่าวไม่สามารถนำมาลงมติในวาระสาม ได้ อย่างไรก็ดีในเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระสองแล้ว มี 2 ประเด็น คือ ประเด็นแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ ประเด็นการเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. หากประเด็นว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าทำไม่ได้ จะถูกตัดประเด็นออกไป แต่ยังเหลือประเด็นแก้ไขมาตรา 256  ดังนั้นรัฐสภายังสามารถนัดประชุมเพื่อลงมติได้ แม้ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญจะกำหนดว่าวาระสามคือการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับก็ตาม
       นายราเมศ  กล่าวตอบคำถามกรณีที่นายโภคิน พลกุล แกนนำกลุ่มสร้างไทย ระบุว่าการนัดลงมติวาระสาม ที่ต้องรอพ้นเวลา 15 วัน คือ 12 มีนาคม  สามารถทอดเวลานัดประชุมออกไปได้ 1 - 2 เดือนเพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ ว่า ในหลักการไม่เป็นเช่นนั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำสั่งให้รัฐสภา ชะลอการพิจารณา ทั้งนี้เป็นอำนาจของรัฐสภา ฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่จะดำเนินการ ภายใต้การหารือและตกลงร่วมกัน ส่วนจะนัดประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติในวันที่ 17 มีนาคม หรือไม่ต้องรอพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญประกาศอีกครั้ง
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่รัฐสภาผ่านการพิจารณาวาระสองนั้น ได้แก้ไขเนื้อหาสำคัญ คือ ประเด็นการลงมติรับหลักการวาระแรก และมติเห็นชอบในวาระสาม จากเดิมที่กำหนดให้ใช้เสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่วมเป็นคะแนนเห็นชอบในวาระแรก และวาระสาม และใช้เสียงส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ร่วมเป็นคะแนนเห็นชอบในวาระสาม ได้แก้ไข ให้เป็นเกณฑ์เดียว คือ ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ หรือ 450 เสียงจากสมาชิกรัฐสภา 750 เสียง.