1 เดือนรัฐประหารเมียนมา-จับท่าที‘สหรัฐ-จีน’

1 เดือนรัฐประหารเมียนมา-จับท่าที‘สหรัฐ-จีน’

การรัฐประหารในเมียนมาผ่านไป 1 เดือนแล้ว แต่ทหารยังควบคุมอำนาจได้ไม่เด็ดขาด ประชาชนยังลงถนนต่อต้านการรัฐประหารทุกหัวระแหง รัฐบาลทหารใช้กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะจนน่ากังวลว่า อนาคตเมียนมาจะเป็นอย่างไร

วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “พม่า จีน ไทย ใช่ไกลอื่น: 1 เดือนหลังรัฐประหารพม่า” ผู้เชี่ยวชาญมองถึงบทบาทมหาอำนาจต่ออนาคตของเมียนมาหลังจากนี้

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงรัฐประหารเมียนมาครั้งนี้ว่า มีทั้งเหตุปัจจัยสั่งสมและเหตุปัจจัยฉับพลันประกอบกัน

"เมียนมาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยได้ 10 ปีแล้ว เป็นระบอบผสมผสานที่ประชาธิปไตยกับเผด็จการอยู่ร่วมกันแบบงัดข้อ ปะทะขัดแย้งกันตลอด 10 ปี แต่โลกทัศน์ทหารเมียนมาอยากได้ประชาธิปไตยพหุพรรคแบบมีระเบียบวินัย ไม่ให้ใครมาปกครองประเทศคนเดียว นี่คือปัจจัยสั่งสม"

ส่วนปัจจัยกระตุ้นคือการเลือกตั้งในปี 2558 และ 2563 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทหารกลัวว่าถ้าปล่อยไปจะเป็นอันตราย วันที่ 1 ก.พ.ถือเป็นสุญญากาศทางอำนาจ ที่เอ็นแอลดียังไม่ได้เปิดสภาและยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล กองทัพจึงชิงตัดวงจรประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นแล้วเอ็นแอลดีจะครองอำนาจต่ออีก 5 ปีรวมทั้งหมด 10 ปี แล้วจะไม่เหลือที่ยืนให้กองทัพได้มีบทบาทนำ

ดุลยภาคสำรวจแขนขาของนายพลมิน อ่องหล่าย ที่จะใช้ต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย พบว่า มี 7 ฐานอำนาจ ได้แก่ 1) สภาบริหารแห่งรัฐคล้ายๆ กับสลอร์คและเอสพีดีซีในอดีต ผสมกับ คสช.ของไทย มิน อ่องหล่ายนั่งเป็นประธาน เหมือนที่นายพลตานฉ่วยเป็นประธานเอสพีดีซี คุมรัฐบาลรวมศูนย์ขนาดกะทัดรัด อำนาจลงลึกถึงระดับรัฐ ภูมิภาค

2) สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ มีบทบาทมาก เป็นองค์กรต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สมาชิก 11 คนเป็นคนของมิน อ่องหล่ายทั้งหมด 3) กองทัพ จำนวน 4-5 แสนนาย ไม่รวมกองกำลังป้องกันชายแดน อาสาสมัครทหารบ้าน และตำรวจที่รวมกันอีกหลายแสน เมียนมาสร้างรัฐทหารสำเร็จตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้ว สามารถรับมือการประท้วงได้ทั่วประเทศ

4) มีหัวเมืองยุทศาสตร์เป็นปราการเหล็กรอบกรุงเนปิดอว์ เช่น ตองจี ตองอู มิถิลา มัณฑะเลย์ เชื่อมโยงโดยระเบียงโลจิสติกส์ ใช้ไฟเบอร์ออพติกส์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิปักษ์รัฐบาล เป็นยุทธภูมิผังเมืองป้องกันการลุกฮือของประชาชน

5) มวลชนจัดตั้งของภาครัฐ ครอบครัวทหารที่ได้รับสวัสดิการ 6) แนวร่วมกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 7) มหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย ่เป็นประโยชน์กับมิน อ่องหล่าย การทูตพลังงานของจีนวางไว้ที่เมียนมา ส่วนรัสเซียเป็นซัพพลายเออร์อาวุธ ทั้งสองประเทศคอยปกป้องเมียนมาในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี)

ส่วนบทบาทของมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตธรรมศาสตราภิชานแห่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มองว่า การคาดหวังให้สหรัฐเข้ามาช่วยคงจะยากเพราะประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีประเด็นในประเทศให้ต้องแก้ไขมากมาย โดยเฉพาะร่างนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เรื่องเมียนมาจึงเป็นเรื่องไกลตัว หากพิจารณาท่าทีสหรัฐตั้งแต่การลุกฮือในปี 2531 ทำได้มากสุดก็คือแซงค์ชัน และตั้งแต่ปี 2535 สหรัฐไม่มีสถานทูตในเมียนมาอย่างเป็นทางการ การดำเนินนโยบายจึงไม่ค่อยถึงฝั่ง

"สหรัฐจะมีท่าทีกับเมียนมาอย่างไรขึ้นอยู่กับท่าทีของจีนมากกว่าขึ้นอยู่กับการที่รัฐบาลเมียนมาใช้กำลังรุนแรงกับประชาชน บรรยากาศที่เราเห็นตึงเครียดตอนนี้ แต่ถ้าจีนไม่ขยับ รัสเซียไม่ขยับ ไบเดนก็อาจจะไม่ขยับมากไปกว่านี้" นักวิชาการรายนี้สรุปว่า ความคาดหวังต่อสหรัฐไม่น่าจะสูงมากเท่าที่โลกอยากเห็น นโยบายต่างประเทศสหรัฐไม่ค่อยอยากเข้าไปในภูมิภาคที่ไม่ได้เดือดเป็นไฟอย่างตะวันออกกลาง แต่ถ้าไบเดนมองการรื้อฟื้นภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐที่เสียหายไปในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กรณีเมียนมาก็อาจจะเป็นเคสที่น่าเล่น แต่ตอนนี้ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐยังไม่แสดงท่าทีมากนัก

แล้วการประท้วงของประชาชนเมียนมาจะจบอย่างไร

“เราไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมเห็นใจประชาชน และเชื่อว่าประชาชนต้องชนะแต่การปกครองประชาธิปไตยไฮบริดทำให้ประชาชนต่อสู้ได้ไม่เต็มที่ เมื่อไม่มีพลังในประเทศมาคลี่คลาย คำตอบจึงอยู่ที่พลังภายนอก ได้แก่ มหาอำนาจ รัสเซีย จีนไม่ช่วยฝ่ายประชาชนแน่ จีนอย่างดีก็ได้แค่เงียบเพราะตนเองถูกสหรัฐถล่มเรื่องอุยกูร์และอื่นๆ ถ้าโดนเรื่องเมียนมาอีกคงต้องเอาปี๊บคลุมหัว ก็หวังว่าจีนจะปรับตัวระดับหนึ่ง แล้วสหรัฐและอียูจะผลักดันให้เกิดการเข้ามาควบคุมสถานการณ์ในเมียนมาได้หรือไม่ อันสุดท้ายคืออาเซียน ถ้าไทยไม่ขยับอาเซียนคงขยับไม่ได้" ธเนศสรุป

ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึงตัวละครที่สำคัญมากอีกตัวหนึ่งนั่นคือ ญี่ปุ่น ประเทศที่ลงทุนในเมียนมามากบวกกับความช่วยเหลือให้เปล่าอีกมหาศาล อาเซียนเองก็ร่วมมือกับญี่ปุ่นอยู่แล้วจึงมองข้ามประเทศนี้ไปไม่ได้ ญี่ปุ่นน่าจะมีนโยบายใกล้เคียงกับสหรัฐมาก

“1 เดือนแล้วกองทัพยังคุมสถานการณ์ไม่ได้ ยังไม่มีใครเอาดอกกุหลาบมาให้ ประชาชนอาจจะไม่แพ้เหมือนเมื่อปี 2531 แล้วจะส่งแรงกระเพื่อมมาสู่การต่อสู้ในเมืองไทย ใครใช้อารยะขัดขืนคนนั้นชนะ” ชาญวิทย์กล่าว

ขณะที่สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจาก Media Inside Out มองต่างอย่างสิ้นเชิงว่า สถานการณ์ปัจจุบันรุนแรงเหมือนกับเมื่อปี 2531 และ 2533 ไม่มีเหตุผลให้กองทัพต้องถอย เกรงว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันเมียนมาอาจปิดประเทศรอบสอง

“ประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่เมียนมาไปกับโลก แต่รัฐธรรมนูญทหารเป็นประชาธิปไตยแบบมีวินัย ถ้าทำอะไรไม่ได้ทหารก็จะไม่ปล่อย” สุภัตรากล่าวทิ้งท้าย