'ปรับ ครม.' ให้คนไทยได้ประโยชน์

'ปรับ ครม.' ให้คนไทยได้ประโยชน์

ภายในเดือน มี.ค.หรือต้น เม.ย.2564 การ "ปรับ ครม." ครั้งใหม่จะเสร็จสิ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมา 3 รัฐมนตรีจาก 2 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลต้องพ้นตำแหน่งไป ล้วนเป็นตำแหน่งสำคัญและเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งการปรับต้องยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยืนยันการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจาก 3 รัฐมนตรีจาก 2 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล พ้นตำแหน่ง ว่าจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด นายกรัฐมนตรีให้เหตุผลขณะนี้ได้มีการหารือระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ระหว่างนี้จะมีการแต่งตั้งรักษาการขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน โดยการปรับ ครม.จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มี.ค.หรือต้นเดือน เม.ย.2564 แต่หากนับระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวจะพบว่ากินเวลา 1 เดือนเต็ม ถือว่าค่อนข้างนาน

หลักการแต่งตั้งรัฐมนตรีรักษาการ กรณีที่กระทรวงไม่มีรัฐมนตรีช่วยก็จะให้อำนาจรองนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลเป็นผู้แต่งตั้ง กรณีกระทรวงที่มีรัฐมนตรีช่วย ให้ตั้งรัฐมนตรีช่วยลำดับที่ 1 ขึ้นมาเป็นรักษาการรัฐมนตรีว่าการ ขณะนี้เริ่มมีกระแสข่าวรายชื่อรัฐมนตรีรักษาการ สังคมจึงต้องจับตาเพราะหมายถึงประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนนโยบายที่ค้างคาใน 3 กระทรวง ที่มีบทบาทสำคัญทั้งสิ้นคือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดีอีเอส และกระทรวงคมนาคม

หากไม่นับการเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจากนายปรีดี ดาวฉาย เป็นนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ การปรับ ครม.ครั้งนี้จะเป็นรัฐบาลประยุทธ์ 2/3 โดยรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นประเด็นสำคัญ หมายถึงคุณภาพการบริหารราชการแผ่นดินที่ประเทศชาติได้ประโยชน์มากขึ้น บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ต้องไม่มาจากระบบโควต้า หรือประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างพรรคเหมือนที่ผ่านมา ส่วนข้ออ้างปรับ ครม. เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เราเห็นว่าไม่เพียงพอกับความคาดหวังของประชาชน

ย้อนไปกลับไปเมื่อกลางเดือน ก.ค.2563 ภายหลังรัฐมนตรีกลุ่ม 4 กุมาร นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ลาออก ขณะนั้นมีเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ทาบทามบุคคลที่เหมาะสมมีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจและเป็นที่ยอมรับในสังคม ปรากฏว่าบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่แทนไม่สามารถเทียบเท่าทีมเศรษฐกิจชุดเก่า ที่สำคัญใช้เวลานานจนเกิดสุญญากาศ ขาดความต่อเนื่องและสูญเสียโอกาสในการผลักดันโครงการสำคัญ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ชะงักงัน และวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนในตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ 

วันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจถูกปัดความรับผิดชอบ เนื่องจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมุ่งทำหน้าที่ในกระทรวงของตน เพราะเห็นว่าภาพรวมเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีเวลามากพอที่จะลงลึกในโครงการสำคัญ ทำให้เกิดช่องว่างในการประสานงานระหว่างกระทรวง ดังนั้น ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจช่วงโควิดกำลังจะคลี่คลายในปัจจุบัน เราเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีอำนาจเต็มในการปรับ ครม. จะใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี โดยไม่เกี่ยงว่าจะปรับเล็กหรือปรับใหญ่ ที่สำคัญต้องยึดผลประโยชน์ประชาชน เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงโครงสร้างภายใน นวัตกรรมดิจิทัล ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก