ปรับแผน 'การบินไทย' หลุดจากฟื้นฟู 10 ปี

ปรับแผน 'การบินไทย' หลุดจากฟื้นฟู 10 ปี

“การบินไทย” ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ ตัดแผนลดทุน-แฮร์คัท หลุดจากฟื้นฟู 10 ปี เร่งหาแหล่งเงิน 5 หมื่นล้าน เผยเจรจาพาร์ทเนอร์ใหม่ ก.ค.นี้ เร่งแผนเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย 600 โครงการ ดันสภาพคล่อง 3.6 หมื่นล้าน

แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ถูกยื่นถึงกรมบังคับคดีแล้ววานนี้ (2 มี.ค.) โดยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ยื่นกับนางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมหารือถึงแนวทางการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 1 ชั่วโมง 

นางอรัญญา กล่าวว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการวันที่ 12 พ.ค.2564 เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะส่งประกาศประชุมพร้อมแนบแผนฟื้นฟูกิจการในรูปแบบคิวอาร์โค้ดให้แก่เจ้าหนี้ในไทยทางไปรษณีย์ตอบรับ และเจ้าหนี้ต่างประเทศทางอีเมล

หลังจากยื่นแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว นายชาญศิลป์ ได้แถลงรายละเอียดของแผนว่า แผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (Private High Quality Full Service) ประกอบด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

1.เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก ด้วยทางเลือกผลิตภัณฑ์ตามความพึงพอใจของลูกค้า

2.เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้น 

3.การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ อาทิ การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินที่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย

4.เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยและการเป็นศูนย์กลางการเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย

นอกจากนี้ การบินไทยจะขับเคลื่อนแผนเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย จัดตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร และได้ริเริ่มโครงการใหม่จากพนักงานทุกระดับและสายงานกว่า 600 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การบินไทยเกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 2568 ตลอดจนเพิ่มศักยภาพบุคลากร เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และเปลี่ยนระบบการทำงานรูปแบบใหม่

161469311639

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันการบินไทยดำเนินมาตรการสำเร็จแล้ว เช่น การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน และ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน การลดค่าใช้จ่าย เช่น การปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งการบินไทยวางเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนพนักงานลงจากปี 2562 โดยในปี 2562 การบินไทยมีพนักงานประมาณ 2.9 หมื่นคน และในปี 2564 จะมีพนักงานเหลือ 1.3–1.5 หมื่นคน ลดค่าใช้จ่ายจาก 3 หมื่นล้านบาท เหลือ 1–1.2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีแผนในการลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบิน อีกทั้งเพื่อลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุง ดังนั้นจากแผนลดค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้การบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 30-50% และจะเริ่มทำกำไรในปี 2567

“แผนเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายที่เราจะทำทั้งหมดนี้ จะทำให้เรามีเงินเข้ามาภายในเดือน ก.ค.นี้ 3.6 หมื่นล้านบาท เพียงพอต่อการขับเคลื่อนองค์กรหลังจากที่แผนฟื้นฟูผ่านการเห็นชอบ ซึ่งเราคาดว่าเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบแผนเราในช่วงเดือน มิ.ย.–ก.ค.นี้ หลังจากนั้นเราจะทำแผนลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง และทำให้เรามีเงินเพียงพอในปี 2565 ถึง 5.8 หมื่นล้านบาท” นายชาญศิลป์ กล่าว

สำหรับแผนเพิ่มทุนที่บรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ยอมรับว่าจากกระแสเงินสดที่มีอยู่นั้น การบินไทยมีความจำเป็นต้องหาเงินเพิ่ม ขึ้นกับรูปแบบธุรกิจที่วางไว้ ทั้งนี้ การบินไทยได้แจ้งมูลหนี้ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์รวม 4.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่แท้จริงตามแผนฟื้นฟู 1.8–1.9 แสนล้านบาท ดังนั้นต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ตรวจสอบมูลหนี้ที่แท้จริงก่อน

นายชาญศิลป์ เผยด้วยว่า การบินไทยประมาณการณ์รายได้จากแผนฟื้นฟู โดยฐานในปี 2562 มีรายได้จากธุรกิจการบิน 1.6–1.7 แสนล้านบาท และลดลงจากผลกระทบโควิด-19 มีรายได้รวม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามแผนคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและในปี 2568 จะมีรายได้รวม 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งการบินไทยเริ่มมีรายได้ทำการบินเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

ส่วนแผนจัดตั้งหน่วยธุรกิจย่อย การบินไทยมีแผนนำธุรกิจที่ทำกำไรมาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อย และเปิดโอกาสให้หาพันธมิตรร่วมทุน อาทิ หน่วยธุรกิจครัวการบิน ฝ่ายช่าง และศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายใน 5 ปีนี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้การบินไทยยั่งยืนมากขึ้น นอกเหนือจากการเพิ่มรายได้ด้านการบิน

ทั้งนี้ การบินไทยได้เสนอคณะผู้ทำแผนเสนอให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยผู้ทำแผนได้เตรียมความพร้อมดำเนินการตามแผน เช่น ได้เตรียมแผนการประกอบธุรกิจ ได้เริ่มเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า แผนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายจะใช้เวลา 5 ปี และต่ออายุได้ 2 ครั้งๆละ 1 ปี รวมแล้วจะอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการไม่เกิน 7 ปี ในขณะที่การชำระหนี้ในแผนฟื้นฟูกิจการสามารถกำหนดได้เกินกว่าอายุของแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการบินไทยเสนอแผนการชำระหนี้ภายใน 10 ปี 

ทั้งนี้ แผนการชำระหนี้เดิมมีการกำหนดให้ลดทุนและแฮร์คัตหนี้ 70% เพื่อให้ชำระหนี้ได้หมดตามแผนฟื้นฟูกิจการใน 5-7 ปี แต่ถูกคัดค้านจากเจ้าหนี้ จึงทำให้แผนฟื้นฟูกิจการที่ยื่นต่อกรมบังคับคดีได้ตัดประเด็นการลดทุนและการแฮร์คัตตามลักษณะเจ้าหนี้เฉลี่ย 30-50% ซึ่งทำให้การบินไทยอาจใช้เวลาในการชำระหนี้ 10 ปี

ในขณะที่การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับการอนุมัติแล้วสามารถขอแก้ไขแผนฟื้นฟูได้ แต่ต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อจัดประชุมเจ้าหนี้ให้ความเห็นชอบ