2 วันไทยฉีดวัคซีนโควิด-19แล้วกว่า 3 พันราย

2 วันไทยฉีดวัคซีนโควิด-19แล้วกว่า 3 พันราย

2 วันไทยฉีดวัคซีนโควิด-19แล้วกว่า 3 พันราย กลุ่มบุคลากรlสาธาณสุข-อสม.มากที่สุด เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย 5 ราย ไม่รุนแรง  ภาพรวมมีความปลอดภัย ย้ำยังไม่เปิดจองคิว ระยะแรกรพ.ติดต่อกลุ่มเป้าหมายไปเอง

     เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 มี.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19ว่า  จากที่มีการจัดส่งวัคซีนถึงหน่วยบิรการเป้าหมายใน 13 จังหวัด จำนวน 116,520 โดส ซึ่งตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 มี.ค.2564 ที่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 3,021 ราย  โดยแยกเป็น บุคลากรการแพทย์ สาธารณสุข และอสม.2,781 ราย  เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 133 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 21 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 86 ราย

ผลข้างเคียงเล็กน้อย 5 ราย

          นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ผลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน มีรายงานผู้มีอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 5 คนในจ.สมุทรปราการ 4 คน และอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 1 คน มีบวมแดงบริเวณที่ฉีด 4 คน และคลื่นไส้ อาเจียน 1 คน  ถือเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ ไม่รุนแรง ไม่น่ากังวล ภาพรวมการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย  ทั้งนี้ อาการข้างเคียงหลังรับวัคซีนเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ 1.อาการน้อยๆ เช่น ปวด บวม เจ็บบริเวณที่ฉีด และ2.รุนแรงตั้งแต่อาการที่ต้องนอนรพ.จนถึงเสียชีวิต เช่น แพ้วัคซีนรุนแรง  ภาวะทางระบบประสาท อัมพาตแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไปโรงพยาบาล ซึ่งรพ.จะมีรายชื่อผู้ที่ฉีดวัคซีนอยู่แล้ว ก็จะดูได้ว่าคนนั้นได้รับวัคซีนหรือไม่ หากได้รับวัคซีนจะส่งให้คณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผลก็จะเกิดขึ้นได้ว่าอาการที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับวัคซีน อาจจะเกี่ยวกับวัคซีน และไม่เกี่ยวกับวัคซีน โดยส่วนใหญ่จะพบว่าไม่ค่อยเกี่ยวกับวัคซีน
      “ขอย้ำว่าในระยะแรกของการฉีดวัคซีนในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลจะติดต่อกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไปเอง จะยังไม่มีการเปิดให้จองคิวฉีดวัคซีนแต่อย่างใด รวมถึง ไม่เปิดให้มีการเดินเข้าไปรพ.เพื่อขอรับวัคซีนเองด้วย ส่วนไลน์หมอพร้อมนั้นในระยะแรกจะใช้เพื่อติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังการรับวัคซีนของผู้ที่ได้รับการฉีดแล้ว แต่ในระยะต่อไปเมื่อมีวัคซีนเข้ามามากขึ้นจึงจะเปิดให้ลงทะเบียนจองคิวผ่านไลน์หมอพร้อม” นพ.โอภาสกล่าว

 ยันเชียงใหม่ฉีดกลุ่มเป้าหมาย
    นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า กรณีที่จ.เชียงใหม่ที่เริ่มฉีดวันแรกเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2564 ซึ่งมีกระแสข่าวว่ามีการฉีดให้กลุ่มวีไอพีนั้น  สธ.ได้จัดส่งวัคซีนให้จังหวัดและได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 1,450 ราย  ซึ่งในวันแรกจังหวัดเชียงใหม่ได้ระบุรายชื่อและนัดเจ้าหน้าที่มารับการฉีดตามที่ได้แจ้งความประสงค์สมัครใจไว้รวม 373 ราย เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 73ราย และเจ้าหน้าที่อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค 300 ราย แต่เมื่อถึงวันฉีดจริงมีเจ้าหน้าที่มีความเชื่อมั่นในวัคซีนมากขึ้นจึงมาขอติดต่อขอฉีดในวันดังกล่าวเพิ่มเติม แต่ในการลงทะเบียนผ่านไลน์หมอพร้อมนั้น ไม่สามารถลงชื่อเข้าระบบได้จึงไม่ได้ฉีด สรุปวันแรกจ.เชียงใหม่จึงมีการฉีด 140 ราย เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 73 ราย และเจ้าหน้าที่อื่นๆซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมโรค และมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย มีทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจและทหารทุกชั้นยศ  67 ราย
         “ในวันแรกที่จ.เชียงใหม่ฉีดวัคซีนโควิด-19นั้น ไม่ได้ฉีดนอกกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ไม่ใช่วีไอพีทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายละเอียดอีกครั้ง มีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสธ.ดำเนินการตามข้อกำหนดทางการแพทย์และระบาดวิทยา”นพ.โอภาสกล่าว
    สำหรับ 13 จังหวัดที่ได้รับวัคซีนในระยะแรก  คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ราชบุรี สมุทรสงคราม นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ อ.แม่สอด จ.ตาก เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และอ.เกาะสมุย จ.สุราฎร์ธานี