'เอไอ-เทคโนโลยีก้าวหน้า'ตัวช่วยลดขยะอาหาร

'เอไอ-เทคโนโลยีก้าวหน้า'ตัวช่วยลดขยะอาหาร

'เอไอ-เทคโนโลยีก้าวหน้า'ตัวช่วยลดขยะอาหาร

“ขยะอาหาร”เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นเนื่องจากแต่ละปีมีอาหารที่รับประทานเหลือและท้ายที่สุดต้องทิ้งลงถังขยะหลายล้านตัน ก่อต้นทุนให้แก่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมากถึง2 ล้านล้านเยนด้วยกัน ล่าสุด บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีก้าวหน้ารูปแบบอื่นๆลดปริมาณขยะจากอาหารและลดต้นทุนในช่วงที่สังคมญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตสาธารณสุข ที่สำคัญเป็นการหาแนวทางดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า อาหารเหลือทิ้งในญี่ปุ่นในแต่ละปีมีปริมาณกว่า 6 ล้านตันก่อต้นทุนทางเศรษฐกิจให้แก่ญี่ปุ่น ประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ3ของโลกปีละประมาณ 2 ล้านล้านเยน (19,000 ล้านดอลลาร์) ถือเป็นประเทศที่มีปริมาณขยะอาหารต่อหัวประชากรมากที่สุดในเอเชีย ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามออกกฏหมายใหม่เพื่อลดต้นทุนทางเศรษฐกิจให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2573จากระดับปี 2543 พร้อมทั้งกดดันให้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นมองหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้

เครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างลอว์สัน อิงค์เริ่มใช้เอไอจากบริษัทดาตาโรบอทของสหรัฐ ที่ช่วยประมาณการว่ามีสินค้าบนชั้นจำหน่ายมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่ข้าวห่อสาหร่ายไปจนถึงแซนวิชทูนาที่อาจจะขายไม่ออกหรือความต้องการลดลง

ลอว์สัน ตั้งเป้าที่จะลดปริมาณสินค้าค้างสต็อกให้ได้ 30% พร้อมทั้งต้องการลดปริมาณขยะจากอาหารตามร้านสาขาลงครึ่งหนึ่งในปี 2573เทียบกับปี2561 ซึ่งการกำจัดขยะจากอาหารเป็นต้นทุนสูงที่สุดสำหรับเจ้าของแฟรนไชส์ของลอว์สันรองจากต้นทุนด้านแรงงาน

ส่วนผู้ผลิตเครื่องดื่มชื่อดังอย่างซันโตรี เบฟเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด จำกัด กำลังอยู่ระหว่างทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เอไอจากฟูจิตสึ จำกัดเพื่อทดลองว่าสินค้าของบริษัทอาทิเช่นชาอู่หลงบรรจุขวดและน้ำแร่ได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งหรือไม่

ซันโตรีตั้งเป้าลดการเรียกคืนสินค้าให้ได้ประมาณ 30-50% และลดต้นทุนขยะจากอาหาร รวมทั้งพัฒนาระบบมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันที่สามารถให้ผู้ผลิตอาหารรายอื่นๆและบริษัทชิปปิ้งร่วมแชร์ได้ส่วนบรรดานักช็อปของญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่าอยากมีส่วนร่วมกับความพยายามในเรื่องนี่้ โดยเฉพาะในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคโควิด-19ที่่ส่งผลกระทบต่อรายได้โดยตรง

“ทัตสึยะ เซกิโตะ”เปิดตัวคูราดาชิ บริษัทอีคอมเมิร์ซที่บริหารจัดการกับอาหารที่ขายไม่ออกด้วยการจำหน่ายแบบลดราคาตั้งแต่ปี 2557 หลังจากเห็นว่าแต่ละวันมีปริมาณขยะจากอาหารเยอะมากตั้งแต่ช่วงทำงานให้บริษัทการค้าของญี่ปุ่นในจีน

ธุรกิจออนไลน์ ได้อานิสงส์อย่างมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการอาหารราคาถูกที่ขายไม่ออกมีมากขึ้นเนื่องจากบรรดาผู้บริโภคให้ความสำคัญกับต้นทุนอาหารมากขึ้นท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19

“ยอดขายขยายตัว 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ปริมาณขยะจากอาหารเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวนับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19ตัดระบบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร”เซกิโกะ กล่าว

คูราดาชิมีบริษัทเครือข่าย 800แห่ง รวมถึง เมจิ โฮลดิงส์ โค คาโกเม โค และลอตเต้ ฟู้ดส์ โค ที่จำหน่ายอาหาร 50,000รายการ รวมทั้งแกงสำเร็จรูปบรรจุกล่อง สมูธตี้ และข้าวห่อสาหร่ายคุณภาพสูง

“นักช็อปญี่ปุ่นเป็นพวกช่างเลือก จู้จี้จุกจิกแต่เราดึงดูดลูกค้าด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาบริจาคส่วนหนึ่งของส่วนที่ซื้อเพื่อการกุศล ซึ่งจะช่วยเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม”เซกิโกะ กล่าวพร้อมเสริมว่า จำนวนสมาชิกของบริษัทเพิ่มเป็น 180,000คนในปี 2564 จาก 80,000 คนในปี 2562

บริษัทอื่นๆก็ร่วมขบวนกับบริษัทอาหารพัฒนาแพลทฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อลดปริมาณขยะจากอาหาร อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของทั่วโลกเพื่อรณรงค์เรื่องนี้ให้บรรลุตามเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน(เอสดีจี) เช่น บริษัทเอ็นอีซี คอร์ป ที่ใช้เอไอไม่เฉพาะวิเคราะห์ข้อมูลอาทิ สภาพอากาศ ปฏิทิน และแนวโน้มของลูกค้าในการประเมินความต้องการ แต่ยังให้เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการวิเคราะห์ดังกล่าวด้วย ซึ่งเทคโนโลยีที่เอ็นอีซีพัฒนาและมอบให้แก่บรรดาผู้ค้าปลีกรายใหญ่ๆ ตลอดจนผู้ผลิตอาหาร ช่วยให้บริษัทเหล่านี้ลดต้นทุนได้ประมาณ 15-75%

“การลดปริมาณขยะจากอาหารไม่ใช่เป้าหมายหลักของเราแต่ท้ายที่สุดเราหวังว่าการใช้เอไอและเทคโนโลยีก้าวหน้ารูปแบบต่างๆจะช่วยเราแก้ปัญหาหรือรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจอาทิ ลดต้นทุนให้มากที่สุด แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพิ่มศักยภาพด้านสินค้าคงคลัง เพิ่มออร์เดอร์และเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์”แถลงการณ์จากเอ็นอีซี ระบุ