ฟื้นฟู 'การบินไทย' อย่ารอดเฉพาะผู้ทำแผน

ฟื้นฟู 'การบินไทย' อย่ารอดเฉพาะผู้ทำแผน

ท่ามกลางวิกฤติที่กระหน่ำอุตสาหกรรมการบิน "การบินไทย" ที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ 27 พ.ค.63 ต้อเลื่อนการส่งแผนฟื้นฟูกิจการถึง 2 ครั้ง และถึงเส้นตาย 2 มี.ค.64 ซึ่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูต้องนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 โดยได้เสนอชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการประกอบด้วย บริษัทอีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพนัธกุล นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการการบินไทย จึงถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้กุมชะตาการบินไทย

ที่ผ่านมาคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเดินหน้าทำแผนตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง แต่ต้องมาเจอปัญหาบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมาลาออกกลางทาง เพราะโจทย์การฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ไม่ง่าย เมื่ออุตสาหกรรมการบินเจอปัญหาทางธุรกิจทั่วโลก และยากที่จะคาดเดาว่าจะมีการฟื้นตัวเมื่อใด ซึ่งทำให้การบินไทยต้องหาจัดหาบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินใหม่มาชั่วคราว จนกระทั่งส่งผลให้การบินไทยต้องยื่นต่อศาลล้มละลายเพื่อขอเลื่อนการส่งแผนฟื้นฟูกิจการถึง 2 ครั้ง

การบินไทยถึงเส้นตายการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการแล้วในวันที่ 2 มี.ค.2564 เพราะไม่สามารถขอเลื่อนการส่งแผนฟื้นฟูกิจการได้อีก ซึ่งไม่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการจะสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหนก็ต้องยื่นและไปรอลุ้นการพิจารณาของบรรดาเจ้าหนี้ที่จะมีการประชุมในเดือน พ.ค.2564 ให้ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการที่เสนอมาเพื่อให้การบินไทยเดินหน้าต่อได้ทันที และให้ทันกับสภาพคล่องที่มีอยู่อย่างจำกัดจนต้องขายทรัพย์สินเพื่อให้มีกระแสเงินสดอยู่ถึงกลางปีนี้

โจทย์สำคัญของการบินไทยหลังจากนี้ คือ การผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าและมีรายได้มาคืนบรรดาเจ้าหนี้ ซึ่งมีการสรุปเจ้าหนี้หลักภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ วงเงิน 185,173 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งเจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้หน่วยงานราชการ เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้ค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเมื่อดูสถานการณ์ของสายการบินทั่วโลกที่ยังย่ำแย่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงผลดำเนินงานของการบินไทยในปี 2563 ที่ขาดทุนถึง 141,180 ล้านบาท และยังไม่มีอะไรยืนยันว่าการดำเนินงานปี 2564 จะดีกว่าปีที่แล้วเป็นพลิกฝ่ามือ

ชื่อชั้นของผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ทำหน้าที่ยกร่างแผนมาตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา และถ้าการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการอยู่บนผลประโยชน์ของการบินไทยอย่างแท้จริงคงจะทำให้การบินไทยจะรอดพ้นจากการล้มละลายในครั้งนี้ และผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการหลังจากจะต้องบริหารกิจการบนผลประโยชน์ของการบินไทย ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ และผลประโยชน์ของประเทศในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และอย่าทำให้การฟื้นฟูครั้งนี้รอดเฉพาะผู้ทำแผน