อภิปรายไม่ไว้วางใจ เปลี่ยนไปเพราะ Digital Disrupting

เพราะ Digital Disruption ทำให้จุดเน้นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเปลี่ยนไป ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ได้สร้างเงื่อนไขของการนำเสนอขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง

ในอดีตที่ผ่านมา ทุกท่านคงมีโอกาสได้ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล มาแล้วนับครังไม่ถ้วน ซึ่งบางครั้งก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐมนตรีบ้างไม่มากก็น้อย หัวใจสำคัญขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจน ขุดเรื่องราวที่ไม่มีใครรู้มาก่อน มาเชื่อมโยงร้อยเรียง จนประชาชนผู้ที่ติดตามอยู่ทางบ้านหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่นั่งอยู่ในสภา ประจักษ์ในข้อมูล จำนนต่อหลักฐานจนไม่สามารถยกมือหรือให้ความเชื่อมั่นในตัวผู้ถูกอภิปรายได้อีกต่อไป การขุดคุ้ยข้อมูลขึ้นมานำเสนอจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายค้านจะต้องนำมาเปิดเผยหรือเปิดโปง และถ้ายิ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครรับทราบมาก่อน เรื่องแปลกใหม่ที่ฝ่ายผู้ถูกอภิปรายชี้แจงไม่ได้ หรือไม่ทันได้ตั้งตัวโอกาสการถูกน็อคคาเวทีย่อมมีความเป็นไปได้สูง

  • สังคม online  แหล่งข้อมูลที่ทำให้ประชาชนไม่สนการอภิปรายฯ

จากรายงานของสื่อมวลชนพบว่าจำนวนผู้ติดตามการถ่ายทอดสดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างที่ประเมินไว้ ทั้งทางโทรทัศน์ และ Digital Platform ต่างๆ จนเกือบทุกช่องต้องปรับแผนการถ่ายทอดสด การสรุปข่าวต้นชั่วโมง รวมทั้งยกเลิกการเชิญนักวิชาการมาร่วมรายการพิเศษต่างๆ ที่ตั้งใจไว้

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสื่อมวลชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็นำไปพิจารณาและไปหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความสิ้นหวังหรือเบื่อหน่ายการเมืองที่ประชาชน ประเทศชาติวุ่นวายต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน การอภิปรายที่ไม่เข้าจุดสังหารของสมาชิกฝ่ายค้าน แม้กระทั่งความรำคาญที่เกิดจากการประท้วงที่ทำให้การอภิปรายไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง จนไม่อยากติดตาม แต่ก็มีผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง นักวิชาการรุ่นใหม่ สื่อมวลชนบางกลุ่ม มองว่าการเข้ามาของ Digital โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ หรือ Social Network ต่างๆ ทำให้วิธีการเสพข้อมูลภาคประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมา การค้นหาข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นฝ่ายค้านหรือผู้ที่สนใจสามารถจะนำเสนอผ่าน Social Network ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ยิ่งไปกว่านั้นผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นยังเป็นใครก็ได้ที่จะเข้าไปร่วมอภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านได้อย่างเสรี ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดวัย และยังกลับมาอ่านกลับมาฟังอีกกี่ครั้งก็ได้ ในส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านจะนำไปอภิปรายนั้นก็มักจะหลุดรอดออกมาให้ได้รู้กันอยู่แล้ว ทั้งจากทางสื่อหลัก สื่อภาคประชาชน  Social Network ที่มีผู้ติดตามเป็นคอการเมืองหรือผู้สนใจข่าวสารบ้านเมืองอยู่เป้นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของเครือข่ายออนไลน์ พบว่าอัตราการเข้าชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลครั้งที่ผ่านมา ผู้ที่ติดตามผ่าน Digital Platform มีจำนวนสูงขึ้นมาก และมีการเข้าชมหรือยอดวิวย้อนหลังมหาศาล บน YouTube ใน Facebook ใน Twitter ที่มีการสรุปประเด็นในแต่ละเรื่อง เป็นรายรัฐมนตรี คัดมาเฉพาะ Highlight ทำบทคัดย่อ สรุปเฉพาะหัวข้อสำคัญๆ ในแต่ละเรื่อง มีการนำคลิปภาพการอภิปรายในสภาฯ ตอนสำคัญๆ มาเผยแพร่ ซึ่งทำให้ผู้ที่สนใจอยากติดตาม ประหยัดเวลาและตัดรำคาญเทคนิคการประท้วงแบบนักการเมืองยุคโบราณไปได้ และยังได้สาระแบบเต็มๆ ยิ่งไปกว่านั้นในบาง Platform ยังมีการเชื่อมลิงค์ที่เป็นข่าวเก่าหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนั้นๆ แปะไว้ให้ผู้ที่สนใจค้นคว้าหาข้อมูล ข้อเท็จจริงเชิงลึกกันต่อไปด้วย

  • การอภิปรายไม่ไว้วางใจในยุค Digital

มาถึงตอนนี้ทุกท่านคงยอมรับแล้วว่าการเข้ามาของ Digital ทำให้รูปแบบของการเมืองเปลี่ยนไป ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในประเด็นต่างๆ มีช่องทางและรูปแบบมากมายที่จะนำเสนอ ดังนั้นการติดตามการเมืองไม่จำเป็นต้องรอพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับดังๆ ไม่ต้องฟังวิทยุหรือทีวีรายการประจำเหมือนอดีต การค้นคว้าค้นหาหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลทำได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเคยเป็นพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่ของฝ่ายค้านที่จะซักฟอก ตรวจสอบ จับผิด หรือประจานการทำงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลจึงหมดความสำคัญลงไปอย่างสิ้นเชิง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตฝ่ายค้านจะต้องเลือกมืออภิปรายที่เป็นนักพูด ที่มีสำนวนโวหารคม บาดลึก ต้องเลือกเวลาในช่วง Primetime คือช่วงที่คนส่วนใหญ่จะดูทีวีอยู่ที่บ้าน ซึ่งมักจะเป็นช่วงหัวค่ำที่พอเหมาะไม่ดึกเกินไปนักได้ขึ้นอภิปราย ในทางกลับกันผ่ายรัฐบาลก็จะต้องบริหารเวลาพยายามให้นักอภิปรายฝีปากกล้าของฝ่ายค้านหลุดช่วงเวลา Primetime ไปให้ได้เพื่อให้คนดูน้อยลง และพยายามให้ผู้นำประเทศหรือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้ชี้แจงในช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้นแทน เทคนิคการประท้วงก่อความวุ่นวายจนทำให้การอภิปรายเกิดหยุดชะงัก ไม่ปะติดปะต่อ ก่อกวนทำให้ผู้อภิปรายเสียสมาธิมีกันให้เห็นบ่อยๆ ในอดีต

เมื่อ Digital เข้ามาสู่การเมือง เรื่องเวลา เรื่องการถูกรบกวนก็ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป สิ่งที่สำคัญอาจจะไม่ใช่ที่เนื้อหาสาระ แต่น่าจะเป็นวิธีการ รูปแบบในการนำเสนอ แม้จะเป็นเรื่องที่สังคมได้ยินหรือรับทราบกันอยู่แล้วในโลกโซเชียล แต่การสรุปประเด็นแบบง่ายๆ นำเสนอผ่านแผนภูมิแผนผัง หรือ Infographic ที่น่าสนใจกระชับ และถ้าได้บัญญัติหรือสร้างนิยามใหม่ๆ ให้กับประเด็นที่ต้องการนำเสนอสู่สาธารณะชนจนกลายเป็นวลี หรือไวรัลในโลกออนไลน์ได้ ก็จะถือว่าเป็นสุดยอดของความสำเร็จในการอภิปรายในยุค Digital ไม่ว่าจะได้อภิปรายตอนกี่โมง ไม่ว่าจะได้อภิปรายนานเท่าไหร่ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป ขอแค่ความชัดเจนในการนำเสนอกับวลีที่โดนใจ ส่วนที่เหลือ Digital Platform จะทำหน้าที่ขยาย กระจายข้อมูลที่ต้องการนำเสนอผ่าน Platform ต่างๆ ไปสู่สังคมให้สังคมได้ตัดสินผิดถูกด้วยสามัญสำนึกของแต่ละคนเอง

การปกปิดข้อมูล ทุบแท่นพิมพ์ ข่มขู่ผู้ประกาศมันหมดไปแล้วครับ สำหรับโลกยุค Digital