"กลุ่มสร้างไทย" เรียกร้อง "ศาลรัฐธรรมนูญ" รีบชี้ "คดีอำนาจรัฐสภา" ก่อนโหวตวาระสาม

"กลุ่มสร้างไทย" เรียกร้อง "ศาลรัฐธรรมนูญ" รีบชี้ "คดีอำนาจรัฐสภา" ก่อนโหวตวาระสาม

กลุ่มสถาบันสร้างไทย เปิดเวทีความคิด เชื่อมีกระบวนการล้มรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ เร่งตัดสินก่อนรัฐสภาโหวตวาระสาม

        สถาบันสร้างอนาคตไทย จัดเสวนา เรื่อง ฝ่าด่านอรหันต์ หยุดกระบวนการล้มรัฐธรรมนูญประชาชน โดยมีนักการเมืองคนสำคัญ​เข้าร่วม
 
        โดย นายโภคิน พลกุล แกนนำสถาบันสร้างไทย กล่าวว่า ตนเคยคุยกับผู้ทำร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน ว่าจะทำได้หรือไม่ เขาบอกว่าเตะต้องไม่ได้ เพราะกังวลว่าอำนาจที่มาทีหลังจะล้างของเดิม ทำให้ตนกังวลว่าจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ทั้งนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาผ่านวาระสอง มีสาระคือ ปลดล็อคการแก้ไข และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดทำฉบับใหม่ทำไม่ได้ ส่วนที่แก้ไขคือการปลดล็อคคือทำได้ ผลที่ตามมาคือ ฝ่ายรัฐบาล สามารถแก้ไขประเด็นอะไรก็ได้ ที่ฝ่ายค้านไม่สามารถขัดขวางได้ ส่วนการแก้ไขใหม่ โดยประชาชนจะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพราะหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญคือการตีความรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขปัญหาข้อพิพาท
161458556372
 
        “อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ​ หลักทฤษฎีอธิบายว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีหมวดไหนหรือบทบัญญัติใดทำหมวดใหม่ แต่เป็นประเพณีและหลักปฏิบัติว่า การแก้ไขเพิ่มเติม สามารถทำใหม่ได้ทั้งฉบับ หรือทำใหม่เป็นส่วนใหญ่ หรือ แก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งเหตุการณ์​ในอดีต หากบอกว่าทำไม่ได้ ต้องการปกป้องอำนาจเผด็จการและการสืบทอดอำนาจ ไม่ได้ปกป้องอำนาจอธิปไตยของประชาชน และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายโภคิน กล่าว
 

        ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้ง 200 คนพอรับได้ แต่การออกแบบระบบเลือกตั้งใช้การแบ่งเขต 200 เขตเลือกตั้ง ตนว่ามีความประหลาด และน่ากังวลว่าการเลือกตั้งจะมีปัญหา เช่น การไม่มีตัวแทนของประชาชนที่เลือกผู้สมัคร ส.ส.ร. เป็นต้น อย่างไรก็ดีก่อนที่รัฐสภาจะลงมติวาระสาม หลายฝ่ายกังวลว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยต่ออำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งตนขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้เร็ว เพื่อไม่ให้สังคมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญคือองค์กรที่ถ่วงเวลา

        “การลากศาลรัฐธรรมนูญมาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ตามคำร้อง ที่ส.ว.ร่วมลงมติต่อญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ หากคำวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจเปิดทางเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งในอนาคตประเทศไทย จะถูกปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภา ไปตลอด และสิ่งที่จะทำได้คืออำนาจนอกระบบเท่านั้น” นายยิ่งชีพ กล่าว

        ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่มีมาตราไหนที่ห้ามยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีเพียงเงื่อนไขแก้ไขเพิ่มเติม คือ ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ดังนั้น 200 มาตราที่มีสามารถแก้ไขได้ แต่กรณียกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมีความหมายไม่ต่างกัน นอกจากนั้นเมื่อรัฐสภาเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผ่านวาระสองแล้ว จากนั้นต้องเว้นระยะ 15 วันเป็นอย่างน้อยจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนลงมติวาระสาม ซึ่งจะเว้นระยะ 1 - 3 เดือนสามารถทำได้ ประเด็นคดีนี้มีคดีค้างที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งตัดสินก่อนที่รัฐสภาจะมีมติวาระสาม ทั้งนี้ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจในความจำเป็นเร่งด่วน หากไม่เป็นเช่นนั้นน่าเป็นห่วง

        “การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตอนนี้ทำไม่ได้ แต่จะทำได้ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และผ่านประชามติก่อน ดังนั้นกระะบวนการต่อไป หากวาระสามผ่าน และผ่านประชามติว่าประชาชนเห็นชอบด้วย เท่ากับรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติที่ทำให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงจะเข้าสู่กระบวนการทำใหม่ทั้งฉบับ ดังนั้นขณะนี้จึงไม่เห็นว่าจะมีปัญหาใดเกิดขึ้น ถึงต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ” นายพงษ์เทพ กล่าว

        ขณะะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานสถาบันและกลุ่มสร้างไทย กล่าวว่า ตนขอทำนายว่าประชาชนจะผิดหวังต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีการเลือกส.ส.ร. เพราะอภินิหารย์ที่ร่วมมือระหว่าง ส.ว.250 คน และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส่วนตัวฐานะ ส.ส.หลายสมัย อยู่ในวงการเมือง 29 ปี ไม่เคยเห็นสมาชิกรัฐสภาที่คิดไม่เป็น ต่ออำนาจการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ และเชื่อว่ามีการสมคบคิดระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ และส.ว.​ นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวอับอายต่อการทำหน้าที่ดังกล่าว

        คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าทางเดินของประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยแบบสากล มืดมิด มีแต่หนทางสืบทอดอำนาจต่อเท่านั้น ทั้งนี้สถาบันและกลุ่มสร้างไทยขอตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และกลายเป็นวงจรอุบาท คือ 1.เนติบริกรด้อยค่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสมยอมกับอำนาจเผด็จการ รัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ, 2. ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนบางคนที่สมยอมอำนาจเผด็จการ และ 3. ประชาชนส่วนหนึ่งที่ถูกมอมเมาโดยวัฒนธรรมอำนาจนิยมและระบบรัฐราชการ

161458556382

        “ขณะนี้ประเทศไทยไร้ทิศทาง และเดินถึงจุดที่มองไม่เห็นอนาคต หมดหวัง และสิ้นหวัง ขอให้ 3 ส่วนประกอบของวงจนอุบาทคิดใหม่ เพื่อส่งมอบอนาคตที่ดี โดยเริ่มจากรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขอเรียกร้องทุกฝ่าย รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน”คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว.