Weekly Oil 1 March 2021

Weekly Oil 1 March 2021

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง หลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ หยุดชะงักจากสภาพอากาศที่หนาวผิดปกติ และเฟดส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยต่ำอีกกว่า 3 ปี

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 64-69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1 - 5 มี.ค. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงหยุดชะงักชั่วคราว จากผลกระทบของสภาพอากาศเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ซึ่งหนาวเย็นกว่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.พ. 64 ลดลง 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปอีกนาน นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มถูกกดดันจากกลุ่มโอเปคพลัสที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนเม.ย. 64 เป็นต้นไป

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงหยุดชะงักชั่วคราว หลังจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมาที่รัฐเท็กซัสเผชิญปัญหาพายุหิมะและอุณหภูมิที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งส่งผลให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (blackout) เนื่องจากพายุหิมะที่เย็นจัดทำให้ระบบส่งก๊าซธรรมชาติจากหลุมผลิตก๊าซผ่านท่อส่งไปยังโรงไฟฟ้าขัดข้องและกังหันลมที่ใช้ผลิตไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้การผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คิดเป็น) และโรงกลั่นน้ำมันราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการผลิตกะทันหัน ซึ่งการกลับมาผลิตน้ำมันดิบยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า โดยคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยราว 2 สัปดาห์
  • จำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 12 สัปดาห์ หลังสหรัฐฯ เผชิญกับสภาวะอากาศที่หนาวเย็น โดย Baker Hughes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.พ. 64 ปรับลด 1 แท่น สู่ระดับ 305 แท่น
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.พ. 64 ลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นกระทบต่อกระบวนการผลิตน้ำมัน
  • เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงการณ์ว่าเฟดจะยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 3 ปีกว่าที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะแตะระดับเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปอีกนาน นอกจากนี้ นักลงทุนยังคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หลังประธานเฟดกล่าวว่าการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นการส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
  • หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ โดยอังกฤษได้เตรียมผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลจะทบทวนข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ และจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 เม.ย. 64 นี้ รวมถึงตั้งเป้าที่จะผ่อนคลายทั้งหมดภายในวันที่ 21 มิ.ย. 64 หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศอังกฤษมีความคืบหน้าอย่างมาก
  • กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตรหรือโอเปคพลัส มีแนวโน้มปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนเม.ย. 64 เป็นต้นไป หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยการประชุมของกลุ่มครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 4 มี.ค. 64
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 64 การจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 64 ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือน ก.พ. 64 ยอดค้าปลีกยูโรโซนเดือน ม.ค. 64 และอัตราการว่างงานยูโรโซนเดือน ม.ค. 64

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ก.พ. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.26 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 61.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 66.13 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 64.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับลดลง เนื่องจากผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิต หลังเผชิญสภาวะอากาศที่หนาวเย็นและระบบไฟฟ้าดับเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีการประเมินว่าต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำราวสองสัปดาห์ในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากรายงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ระบุว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย และเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการอนุมัติเป็นกรณีฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีปัจจัยกดดดัน หลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 19 ก.พ. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 463 ล้านบาร์เรล