'อีอีซี' เดินหน้าขับเคลื่อน 5 จี รองรับการลงทุนในอนาคต

'อีอีซี' เดินหน้าขับเคลื่อน 5 จี รองรับการลงทุนในอนาคต

"บอร์ดอีอีซี"ไฟเขียวเดินหน้า 5 จี ต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ รองรับการลงทุน นำร่องพื้นที่บ้านฉาง พร้อมขับเคลื่อนห้องเย็นทันสมัย พร้อมทำการตลาดอีคอมเมิร์ซ ช่วยเกษตรกรเพิ่มรายได้ปีละ 20 -30%

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ว่าที่ประชุมฯได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้


1. คืบหน้าโครงการ EFC ขับเคลื่อนห้องเย็นทันสมัย ผลไม้ไทยขายตรงตลาด เกษตรกรรายได้ไม่ขาดมือ โดยที่ประชุม กพอ. รับทราบ ความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 ได้ลงนาม MOU จัดทำระบบห้องเย็น ระหว่าง สกพอ. ปตท. และ กนอ. เกิดกลไกความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีห้องเย็นที่ทันสมัย เพื่อสร้างรายได้ดีต่อเนื่องให้เกษตรกรนำร่องด้วยทุเรียน ผลไม้ที่สร้างรายได้หลักของไทย ซึ่งขณะนี้ สกพอ. ได้ร่วมกับ อบจ.ระยอง เตรียมจัดทำระบบสมาชิก ชาวสวนผลไม้ และกลุ่มสหกรณ์ ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ โดยระยะแรกจะคัดเลือกจากกลุ่มชาวสวนทุเรียนที่ได้รับมาตรฐานสากลสำหรับส่งออก (GAP) ในเบื้องต้นโครงการ EFC ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 - 30


ทั้งนี้ กรอบการขับเคลื่อน EFC จะดำเนินการ 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.) ศึกษาความต้องการตลาด เน้นศึกษาความต้องการ รสนิยม การบริโภคทุเรียน มังคุด และผลไม้ภาคตะวันออก เริ่มจากตลาดประเทศจีน 2.) วางระบบการค้าใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-Auction พร้อมพัฒนาลงทุนบรรจุภัณฑ์ เพื่อขยายการส่งทางอากาศสู่ตลาดโลก เกษตรกรได้รับรายได้ตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง 3.) จัดทำระบบห้องเย็น รักษาคุณภาพผลไม้ให้ส่งขายตลอดปี และ 4.) จัดระบบสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการตลาด


2. เร่งเครื่อง สร้างเชื่อมั่นนักลงทุน ดึงดูดการลงทุนใน อีอีซี เพิ่มขึ้นเท่าตัว
ที่ประชุม กพอ. รับทราบ ภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนหลักจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดใน อีอีซี โดยนักลงทุนญี่ปุ่น จีน และเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติ 3 อันดับแรกที่เข้าลงทุนใน อีอีซี


ความคืบหน้าจะเร่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ อาทิ การจัดระบบบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One Stop Service และ Single Window อำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากรต่างๆ การกำหนดอัตราภาษีที่ชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ เร่งดำเนินการเรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ให้เกิดการลงทุนรวมอุตสาหกรรมใหม่




161457944339 3. ก้าวหน้า พัฒนา 5G ในอีอีซี ก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ที่ประชุม กพอ. รับทราบ แนวทางการดำเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G และการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่ อีอีซี โดยมีแนวทางที่สำคัญ ดังนี้

1.) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน : จากสัญญาณ สู่ข้อมูลกลาง ติดตั้งแล้วเกิน 80% ของพื้นที่
ด้านสัญญาณ ได้ติดตั้ง ท่อ เสา สาย และสัญญาณ โดยร่วมกับ สดช. และ กสทช.ประสานให้เกิดต้นทุนต่ำสุด ด้วยการใช้เสาอัจฉริยะ หรือ Smart pole ร่วมกัน และการลงทุนเสาเพิ่มเพื่อให้เช่า รวมทั้งกำหนดราคาต่ำสุด เพื่อให้สะท้อนความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ
ด้านข้อมูลกลาง ร่วมกับ สดช. กำหนดให้ข้อมูลภาครัฐ รวมอยู่ใน คลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud)

โดยอีอีซี จะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ ปรับข้อกฎหมาย นำข้อมูลคลาวด์ภาครัฐ และภาคเอกชน เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้ จัดทำข้อมูลกลางเพื่อธุรกิจในอนาคต หรือ Common Data Lake ใน อีอีซี

2.) ด้านการใช้ประโยชน์ : ก้าวสู่ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต ผลักดันภาคธุรกิจ โรงงานใน อีอีซี 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่งหน่วยราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล กลุ่ม SMEs ให้มาใช้ 5G พร้อมเริ่มนำร่องใช้ 5G บริเวณสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภา นิคมฯ มาบตาพุด และบ้านฉาง

นำ 5G สร้างประโยชน์ชุมชน ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ 5G สูงสุด ผลักดันให้บ้างฉาง ก้าวสู่ต้นแบบชุมชนอนาคต (Smart city) รวมทั้งนำ 5G มาใช้ประโยชน์ในแผนพัฒนาภาคเกษตร เกิดระบบเกษตรอัจฉริยะ (precision farming) และสนับสนุนการใช้ดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพชุมชน
สร้างธุรกิจใหม่จาก 5G ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ในการพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น ส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านดิจิทัลและการใช้ข้อมูล และส่งเสริม Start up ทำแอปพริเคชั่นด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่น เป็นต้น


3.) ด้านการพัฒนาบุคลากร เยาวชนไทย คือหัวใจ 5G
ผลักดันเอกชน และสนับสนุนให้ทุกบริษัทที่จะมาลงทุนด้านดิจิทัล ให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New Skill) ตั้งเป้าหมาย 3 ปี (2564 – 2566) รวม 115,282 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 8,392 คน มีแผนในปี 2564 - 2565 จำนวน 62,890 คน และประสานกับบริษัทชั้นนำ เช่น Huawai, HP ผลิตบุคลากรร่วมกันอย่างน้อย 44,000 คน


4.) ด้านการมีส่วนร่วม และประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ทุกภาคส่วน ให้เกิดการรับรู้การใช้ประโยชน์จาก 5G และร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

161457948480 4. ร่วมมือพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบัง เชื่อมโยงโลจิสติกส์อย่างไร้รอยต่อ
ที่ประชุม กพอ. รับทราบ การลงนาม MOU ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่าง การท่าเรือฯกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง กำหนดแผนงานที่เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบก ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้า เปิดประตูการค้าให้ สปป. ลาว ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและสนับสนุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า จากประเทศจีน สปป.ลาว และประเทศไทยอย่างไร้รอยต่อ เพื่อจูงใจนักลงทุนสร้างประโยชน์ให้ประเทศและประชาชนสูงสุด


5. รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เร่งรัดส่งมอบ เปิดพื้นที่ก่อสร้าง เสร็จตามแผน
ที่ประชุม กพอ. พิจารณา ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามแผนคณะทำงานเร่งรัด ฯ และมีความคืบหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญา
ซื้อขายโดย รฟท. ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนกันยายน 2564