ปม “38 มาตรา” พระราชอำนาจ ส.ว.ปูทางโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ วาระ 3

ปม “38 มาตรา” พระราชอำนาจ  ส.ว.ปูทางโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ วาระ 3

ข้อเรียกร้องให้นำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทั้งหมด ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จำนวน 38 มาตรา ไปไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจจะเป็นเงื่อนไขให้ ส.ว. คว่ำการแก้รัฐธรรมนูญ

การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 วาระ 2 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นไปแล้ว รอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 17-18 มี.ค. เพื่อโหวตวาระสาม

หลายฝ่ายเก็งข้อสอบว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะโหวตคว่ำในวาระสาม เนื่องจากมีเงื่อนไขว่าการโหวตวาระสาม เกณฑ์จะเห็นชอบนั้นถูกกำหนดให้ต้องมีเสียง ส.ว. ​ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงของ ส.ว.ที่มี 250 เสียง รวมอยู่ด้วย

เมื่อต้องใช้เสียงของ ส.ว. ถึง 84 เสียง จึงสุ่มเสี่ยงที่จะโดนโหวตคว่ำ ยิ่ง ส.ว. ต้องแพ้โหวตกลางสภา หลังพยายามผลักดันให้ยกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทั้งหมด ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จำนวน 38 มาตรา ไปไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขห้ามแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงคะแนนเสียง 349 ต่อ 200 งดออกเสียง 58 ไม่ลงคะแนน 2 ทำให้ข้อเสนอของ ส.ว. ถูกตีตกไป

แม้ขั้วประชาธิปไตยจะแฮปปี้ที่ข้อเสนอดังกล่าวถูกล้มไม่เป็นท่า บางคนมองว่า ส.ว. เสียหน้า แต่หากมองให้ลึกจะพบว่าข้อเรียกร้องให้นำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทั้งหมด ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จำนวน 38 มาตรา ไปไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทาง ส.ว. เตรียมตัวมาอย่างดี

แถมยังเคยเสนอในชั้น กรรมาธิการร่วม มาแล้ว แต่โดน ส.ส. ตอบปฏิเสธ เมื่อโหวตแพ้ ส.ว.หลาย คนเก็บความแค้นไว้รอชำระ

อย่าลืมว่า 200 เสียงที่เห็นชอบให้นำ 38 มาตราเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจไปบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาจาก ส.ว.ทั้งหมด

และหาก ส.ว. จะโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้ประเด็นดังกล่าวมาเป็นข้ออ้าง ก็ย่อมมีข้ออ้างตามที่ได้ปูทางมาไว้แล้ว