ม.มหิดล พัฒนาแอพฯ "กินยาแล้ว" เชื่อมนวัตกรรมจัดยาด้วยเอไอ

ม.มหิดล พัฒนาแอพฯ "กินยาแล้ว" เชื่อมนวัตกรรมจัดยาด้วยเอไอ

แอพพลิเคชัน "กินยาแล้ว" ถือเป็นหนึ่งในโซลูชั่นลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดเสี่ยงติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบชนิดยา และแจ้งเตือนการกินยา อีกทั้งเชื่อมโยงระบบอัตโนมัติ เอไอ สำหรับตรวจสอบความถูกต้องของการจัดยา ทั้งหมดอยู่ในระหว่างการทดลองใช้

161434100077
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นริศ หนูหอม รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมวิจัยในคลัสเตอร์ดิจิทัล ของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network Thailand หรือ RUN) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะเร่งพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ โดยอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภายใน และภายนอก เพื่อแก้ไขปัญหา และบรรเทาวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยได้ร่วมสร้างนวัตกรรมระบบข้อมูลยา จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน "กินยาแล้ว" เพื่อตรวจสอบชนิดยา และแจ้งเตือนการกินยา ซึ่งจัดทำเสร็จสิ้น และอยู่ในระหว่างการทดลองใช้ และโครงการพัฒนาระบบอัตโนมัติ AI สำหรับตรวจสอบความถูกต้องของการจัดยา เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่จัดยา ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพัฒนา

ซึ่งจุดเด่นของแอปพลิเคชัน "กินยาแล้ว" คือการสามารถอ่านข้อมูลจาก QR Code เพื่อดึงข้อมูลรายการยาเข้าสู่ระบบการแจ้งเตือนเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยลืมกินยา อีกทั้งช่วยให้ผู้ดูแลสามารถทราบเวลาที่จะต้องจัดเตรียมยาให้ผู้ป่วย หรือย้ำเตือนผู้ป่วยไม่ให้ลืมกินยา สำหรับอีกโครงการเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการแรก โดยเชื่อมโยงระบบยาจากโรงพยาบาลสู่ผู้ป่วยผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ซึ่งผู้ป่วยสามารถนำ QR Code ที่สร้างจาก Platform ไปรับยาจากร้านขายยาใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องรอคิวรับยาที่โรงพยาบาล ซึ่งมีกลไกตรวจสอบความถูกต้องของการจัดยาด้วยระบบอัตโนมัติ AI โดยทีมผู้วิจัยจะดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรทางนวัตกรรมต่อไป

161434101589

ผู้ป่วยมีความคาดหวังต่อการบริการดูแลรักษาสุขภาพที่มีความสะดวกสบาย และการเข้าถึงบริการที่ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่โรงพยาบาลมีความแออัด ซึ่งระบบ AI จะเข้ามาช่วยลดความคลาดเคลื่อนในการจัดยา ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้มีเวลามากขึ้นสำหรับการวางแผนเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นได้ต่อไป 
"คนที่อยู่รอดไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุด อนาคตจะเป็นอย่างไรอยู่ที่เราปรับตัว วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากพวกเราคนไทยพร้อมร่วมแรงร่วมใจสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทย สุดท้ายเชื่อว่าเราก็จะสามารถผ่านวิกฤติต่างๆ ไปได้ในที่สุด"