สาระน่ารู้พระราชกุศลมาฆบูชา

สาระน่ารู้พระราชกุศลมาฆบูชา

เนื่องในวันมาฆบูชา เว็บไซต์สำนักพระราชวัง royaloffice.th/ เผยแพร่เกี่ยวกับพระราชพิธีมาฆบูชา ใจความตอนหนึ่งว่า

การพระราชกุศลมาฆบูชานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธี 12 เดือน ว่าเพิ่งมีขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 การทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 30 รูป ฉันภัตตาหารในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์จบ ทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม แล้วเทศนาโอวาทปาติโมกข์ กัณฑ์ 1 เป็นภาษาบาลีและภาษาไทย เมื่อเทศน์จบพระสงฆ์ 30 รูปรับอนุโมทนา เครื่องกัณฑ์เทศน์มี ผ้าจีวร 1 ผืน เงิน 3ตำลึง และขนมต่างๆ เช่น ผลสมอเชื่อม มะขามป้อม เป็นราชประเพณีสืบมา

ต่อมาในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เรียกว่า การพระราชกุศลมาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาต ครั้นถึงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เปลี่ยนเป็น การพระราชกุศลมาฆบูชา

ในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน ก่อนถึงวันพระราชกุศลวันมาฆบูชาเจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง จะได้นำเทียนรุ่ง จำนวน 14เล่ม หนักเล่มละ 600 กรัม สูง 40 เซนติเมตร สำหรับจุดบูชาพระตลอดคืนจนรุ่งเช้า ขนาดขี้ผึ้งหนัก 600 กรัม สูง 40 เซนติเมตร ไปตั้งถวาย พระราชฐานที่ประทับ เสด็จออกทรงพระสุหร่าย  ทรงเจิมเทียนรุ่ง

ทรงพระราชอุทิศพระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัย พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 4 เล่ม และพระอารามที่เกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 คือ วัดบวรนิเวศวิหาร  วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระอารามละ 2 เล่ม

ส่วนวันพระราชกุศลมาฆบูชา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ