สหรัฐเปิดแผน100วันแก้ปัญหา‘ชิพ’ขาดตลาด

สหรัฐเปิดแผน100วันแก้ปัญหา‘ชิพ’ขาดตลาด

สหรัฐเปิดแผน100วันแก้ปัญหา‘ชิพ’ขาดตลาด ขณะประธานาธิบดีสหรัฐระบุระบบห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องต่อรองที่ทำให้สหรัฐอยู่ในฐานะเสียเปรียบ

การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิพ ที่กำลังเป็นปัญหาของโลกในขณะนี้ เดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อสหรัฐออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนที่ปัญหานี้จะบานปลายกลายเป็นการแย่งชิงเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างบริษัทกับบริษัท อุตสาหกรรมกับอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งประเทศกับประเทศ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ลงนามรับรองคำสั่งพิเศษกำชับหน่วยงานรัฐบาล เข้าตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่มีปัญหา อย่างเช่นสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ แร่ธาตุและวัสดุที่สำคัญ ส่วนผสมที่ใช้ในสินค้าเภสัชกรรม และแบตเตอรี่ขั้นสูงที่ใช้ในรถอีวี ภายในระยะเวลา 100 วัน

ประธานาธิบดีสหรัฐ ระบุว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือการหาจุดอ่อนภายในระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเตรียมหาทางเลือกอื่น หรือการแก้ไขเนื่องจากสหรัฐต้องมีซัพพลายเชนที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ สินค้าอย่างชิพคอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังขาดแคลน สร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลไบเดนจะร่วมมือกับผู้นำภายในอุตสาหกรรมเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้

“เราควรป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซัพพลายเชนขึ้นตั้งแต่แรก ไม่ใช่ต้องมาคอยแก้ไข” ไบเดน กล่าวและว่า ในบางกรณีการแก้ปัญหาชิพขาดแคลนอาจหมายถึงการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศและบางกรณีอาจหมายถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับเพื่อนและหุ้นส่วนของเราที่ไว้ใจได้ หรือแม้แต่ประเทศต่างๆที่ร่วมแบ่งปันมูลค่ากับเรา เพื่อที่ว่าระบบห่วงโซ่อุปทานของเราจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องต่อรองที่ทำให้เราอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ"

ตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ไบเดนได้เซ็นรับรองคำสั่งพิเศษหลายฉบับที่มุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับความเสียหายจากการถูกทำลายเพราะการระบาดของโรคโควิด-19

ในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรีอีวี สหรัฐต้องทำงานร่วมกับไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในส่วนของแร่หายากนั้น สหรัฐต้องร่วมทีมกับออสเตรเลียเพื่อท้าทายความเป็นจ้าวตลาดแร่หายากของจีน

“การทำงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ สหรัฐไม่ได้ตั้งใจที่จะดำเนินการตามลำพังและการกำจัดจุดอ่อนในเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศเท่านั้น”ซามีรา ฟาซิลิ รองผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐกล่าว

ด้านปีเตอร์ ฮาร์เรลล์ ผู้อำนวยการอาวุโสแผนกเศรษฐกิจและการแข่งขันระหว่างประเทศของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า จะใช้มาตรการจูงใจหลายๆด้านเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐ พร้อมทั้งมองหาแนวทางต่างๆเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีขีดความสามารถด้านการผลิตชิพเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดเก็บ การทำงานกับบรรดาหุ้นส่วนและพันธมิตรก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าสหรัฐจะมีชิพหมุนเวียนข้ามพรมแดนมากขึ้น

ขณะที่ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า เขาได้สั่งการให้บรรดาสมาชิกในคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเริ่มร่างชุดกฏหมายที่จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นและแซงหน้าจีน รวมทั้งเลิกพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์จากต่างชาติ

“เราไม่สามารถปล่อยให้จีนก้าวแซงหน้าเราในการผลิตชิพได้อีกต่อไป และนี่จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่เราจะยื่น”ชูเมอร์ กล่าว

วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตจากรัฐนิวยอร์ก ยังกล่าวด้วยว่า กฏหมายฉบับนี้ต้องสนับสนุนการแข่งขันของสหรัฐผ่านการลงทุนด้านนวัตกรรมอเมริกัน แรงงานและการผลิตด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และพันธมิตร ทั้งองคการสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา หอการค้าสหรัฐและตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงตัวแทนบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) แคเทอร์พิลลาร์ อิงค์ เม็ดโทรนิค พีแอลซีและบริษัทอื่น ๆ จากกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนกว่า 10 แห่งในสหรัฐร่วมยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดีไบเดน เรียกร้องให้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิพ ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ของประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์

ขณะที่บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐร่วงลงเหลือ12% จาก 37% ในปี 2533 และขณะนี้ไต้หวันเป็นประเทศที่ผลิตชิพได้ในปริมาณมากที่สุดในโลก แต่บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป คาดการณ์ว่าจีนจะเป็นผู้นำด้านการผลิตชิพภายในปี 2573 และมีส่วนแบ่งตลาด 24%

ด้านเอลิกซ์ พาร์ทเนอร์ส บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำคาดการณ์ว่า การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์หรือจะทำให้อุตสาหกรรมรถทั่วโลกสูญรายได้ถึง 60,600 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

และเมื่อไม่นานมานี้ เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) คาดการณ์ว่า ปัญหานี้จะทำให้บริษัทสูญรายได้ 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ขณะที่ฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ คาดว่า จะผลิตรถลดลง 250,000 คันจากตอนนี้จนถึงเดือนมี.ค.

ส่วนฟอร์ด มอเตอร์ ประกาศเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า ต้องลดการผลิตรถปิ๊กอัพยอดนิยม F-150 ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ และที่จีน โรงงานหลายแห่งปิดนาน 2 สัปดาห์ ขณะที่โฟล์คสวาเกนระงับการผลิตในโรงงาน 2 แห่งในเยอรมนีเมื่อเดือนที่แล้ว