'สื่อสังคมออนไลน์'คู่ปรับอินเดีย-ออสเตรเลีย

'สื่อสังคมออนไลน์'คู่ปรับอินเดีย-ออสเตรเลีย

ช่วงนี้สื่อสังคมออนไลน์และรัฐบาลหลายประเทศมีปัญหาขัดแย้งกันให้เห็นบ่อยครั้ง มีทั้งขัดแย้งในเรื่องของธุรกิจและขัดแย้งกันโดยมีชนวนเหตุมาจากประเด็นทางการเมืองและทำให้ภาครัฐพยายามออกกฏหมายควบคุมสื่อโซเชียล

ล่าสุด เป็นความขัดแย้งทางธุรกิจระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียและสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างเฟซบุ๊คและกูเกิล ที่วานนี้ (25ก.พ.)รัฐสภาออสเตรเลียได้อนุมัติกฎหมายใหม่ซึ่งบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่างเฟซบุ๊คและกูเกิลต้องจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าวให้กับสื่อต่างๆ ของออสเตรเลีย ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ออกกฎหมายลักษณะนี้ และอาจทำให้ประเทศอื่นๆทำตาม

ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียพยายามเร่งให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ชื่อว่า “มีเดีย โค้ด”ซึ่งจะบีบให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ค ต้องจ่ายเงินให้กับบรรดาบริษัทสื่อท้องถิ่นเมื่อมีการนำเนื้อหาของสื่อเหล่านั้นไปใช้

กระทรวงการคลังออสเตรเลีย ระบุว่า กฎหมายใหม่นี้จะทำให้ ธุรกิจข่าวสารได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมจากคอนเทนต์ที่ผลิตและเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญในระดับจุลภาค

โดยกระทรวงการคลังจะทำการทบทวนกฎหมายใหม่นี้ภายในเวลา 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่ากฎหมายจะทำหน้าที่ได้ตามเป้าหมาย

ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก บริษัทเฟซบุ๊คบรรลุข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลออสเตรเลีย โดยจะยินยอมให้เพจข่าวสารต่างๆ ของออสเตรเลีย สามารถเผยแพร่ข่าวสารในประเทศได้อีกครั้ง หลังจากที่เฟซบุ๊คบล็อกข่าวจากสื่อออสเตรเลียทั้งหมดทั้งจากสำนักข่าวและช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเฟซบุ๊คเจรจากับรัฐบาลออสเตรเลีย โดยเฟซบุ๊ค ระบุในเวลาต่อมาว่า “หลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกันแล้ว เรารู้สึกพอใจที่รัฐบาลออสเตรเลียได้ตกลงที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลายประการ และยังรับประกันว่าจะแก้ไขข้อกังวลของเราเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการทำข้อตกลงทางธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการเห็นคุณค่ากับความตั้งใจในแพลตฟอร์มของเรา”

ด้านนายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสันของออสเตรเลีย ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางอย่างในกฎหมายมีเดีย โค้ด ซึ่งรวมถึงการให้เวลาเฟซบุ๊คในการตกลงเจรจากับกับบรรดาสำนักข่าวและสถานีโทรทัศน์ในท้องถิ่นเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่จะให้คณะอนุญาโตตุลาการของรัฐบาลออสเตรเลียเข้ามาเป็นตัวกลางในการตัดสิน

ส่วนกูเกิล ซึ่งเคยขู่เลิกฟังก์ชันสืบค้นข้อมูลในออสเตรเลียหากรัฐบาลออสเตรเลียบังคับใช้กฎหมายนี้ ยินยอมทำข้อตกลงกับสื่อออสเตรเลียแล้วหลายราย ซึ่งความเคลื่อนไหวของทางการออสเตรเลียกับสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ค ถูกจับตามองจากรัฐบาลทั่วโลกและคาดว่าจะมีอีกหลายประเทศทำตาม และที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้หารือเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้กับผู้นำอินเดีย แคนาดา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

ขณะที่อินเดีย ล่าสุด เตรียมออกกฏหมายเพื่อควบคุมบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ทุกแห่ง รวมทั้งทวิตเตอร์อย่างเข้มข้นมากขึ้นเนื่องจากไม่พอใจที่ทวิตเตอร์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำขอให้ลบบัญชีหรือถอดเนื้อหาที่รัฐบาลมองว่าเป็นเนื้อหาที่สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของรัฐบาลลงภายใน 36ชั่วโมง

กฏหมายของรัฐบาลอินเดียฉบับนี้ซึ่งมีชื่อว่า "Intermediary Guidelines and Digital Media Ethics Code"เกิดขึ้นในช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามลดอิทธิพลและควบคุมบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่างกรณีเฟซบุ๊คที่ขัดแย้งกับทางการออสเตรเลียในประเด็นการแบ่งปันรายได้จากการโฆษณา

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียมีคำสั่งให้ทวิตเตอร์ระงับบัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่เป็นเกษตรกรจำนวนกว่า 250 บัญชี รวมทั้งข้อความที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่งผลให้บัญชีผู้ใช้เหล่านั้นไม่สามารถใช้งานได้ช่วงหนึ่งก่อนจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ในอีกหลายชั่วโมงต่อมา

คำสั่งนี้ส่งผลกระทบต่อบัญชีผู้ใช้งานของแม็กกาซีนคาราวาน นักเคลื่อนไหวเกษตรกร ผู้นำการประท้วง นักแสดง และนักเศรษฐศาสตร์หลังจากเกษตรกรหลายหมื่นคนปักหลักประท้วงรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.ปีที่แล้ว บริเวณชานกรุงนิวเดลี เนื่องจากไม่พอใจกฎหมายเกษตรฉบับใหม่ของรัฐบาล และการเดินขบวนของผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ก็บานปลายกลายเป็นการปะทะที่รุนแรง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมกลุ่มเกษตรกรและนักข่าวของแม็กกาซีนคาราวาน

นี่คือภาพความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและสื่อสังคมออนไลน์ที่นับวันจะได้เห็นถี่ขึ้นและจริงจังมากขึ้น