แอลพีเอ็นเขย่าโครงสร้าง ตั้งเป้าปี67‘เทิร์นอะราวด์’ ดันรายได้แตะ1.6หมื่นล้าน

แอลพีเอ็นเขย่าโครงสร้าง ตั้งเป้าปี67‘เทิร์นอะราวด์’ ดันรายได้แตะ1.6หมื่นล้าน

“แอลพีเอ็น” กางแผน 3 ปี พลิกกลยุทธ์ 360 องศา ประเดิมเขย่าโครงสร้างองค์กร ทรานส์ฟอร์มสู่ “ดิจิทัล” พร้อมขยายฐานรายได้แนวราบ-บริการ หวังบาลานซ์พอร์ต ลดความเสี่ยงจากคอนโด มั่นใจเทิร์นอะราวด์ ปั๊มรายได้ทะลุ 1.6 หมื่นล้านปี 2567

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะผู้นำองค์กรรุ่น3 ต้องการเทิร์นอะราวด์ธุรกิจใน 3 ปี (2564-2567) หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายจะกลับมามีรายได้ติด “ท็อปไฟว์” หรือมีรายได้ไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งเป็นระดับที่เคยทำได้ในปี 2558 มาจากโครงการแนวสูง 50% แนวราบ 50% คิดเป็นสัดส่วน 60% จากรายได้รวม ส่วนที่สองมาจากงานบริการดูแลโครงการ, การรักษาความปลอดภัย และวิศวกรรม สัดส่วน 30% จากปัจจุบันมีอยู่ 20% ส่วนที่สามมาจากค่าเช่า 10% จากการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาปล่อยเช่า และจากการร่วมทุนทำอาคารสำนักงานเพื่อปล่อยเช่าที่จะแล้วเสร็จใน 3 ปีข้างหน้า

ปี 2564 บริษัทจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายและต้นทุน ยกระดับการบริหารประสบการณ์ลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ นับเป็นปีของการเตรียมความพร้อมในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565-2567

โดยกำหนด 4 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์แรก รุกตลาดที่พักอาศัยแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ มากขึ้น มีแผนเปิดตัว 6 โครงการ มูลค่า 5,500 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยวเจาะตลาดพรีเมียมในระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป แบรนด์ “บ้าน 365” 1-2 โครงการ มูลค่า 3,000 ล้านบาท อยู่ย่านใจกลางเมือง พื้นที่ขนาดเล็ก นอกจากนี้มีแบรนด์ “บ้านลุมพินี ทาวน์เพลส” และ “บ้านลุมพินี ทาวน์วิลล์” ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท 3-5 โครงการ มูลค่า 2,500 ล้านบาท

“ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้บริษัทปรับโมเดลพัฒนาโครงการให้มีขนาดเล็ก สร้างเสร็จเร็ว ช่วยในการบริหารจัดการการเงินการก่อสร้าง ลดความเสี่ยงธุรกิจได้ดีขึ้น"

กลยุทธ์ที่สอง ขยายฐานรายได้จากภาคธุรกิจบริการโดยนำแพลตฟอร์มธุรกิจสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มธุรกิจบริการภายใต้การบริหารของบริษัทในเครือทั้ง บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด (LSS) ตั้งเป้ารายได้งานบริการเติบโต 20% จากปีก่อนมีรายได้งานบริการและธุรกิจให้เช่า 1,361 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่สาม การบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินเพื่อรองรับกับความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยชะลอแผนการซื้อที่ดินใหม่เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัย เพราะบริษัทมีที่ดินที่ซื้อเก็บไว้ในปี 2563 รวม 6-8 แปลง ขณะเดียวกันมีแผนออกหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนในปีนี้ 2,000 ล้านบาท และเพื่อลงทุนซื้อที่ดินสำหรับพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งจะใช้งบราว 4,000 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่สี่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ อาทิ อาคารชุดพักอาศัยที่สร้างเสร็จรอขายนำมาปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการสร้าง Backlog เพื่อขายในอนาคต ซึ่งบริษัทมีแผนนำที่ดินที่รอการพัฒนาบางส่วนมาพัฒนาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ แนวทางระบายสต็อกคอนโดของแอลพีเอ็น ต้องปรับให้เข้ากับการแข่งขันในตลาดมากขึ้น อย่าง ลุมพินี พาร์ค ย่านพหลโยธิน 32 ยอดขายแค่ 20% จากราคาขาย 130,000-140,000 บาทต่อตร.ม. เท่ากับคอนโดย่านอโศก สุขุมวิท ทำให้ลูกค้าไม่ซื้อเพราะทำเลเป็นรอง บางส่วนอาจต้องยอมลดราคาลงมา และบางส่วนเปลี่ยนจากการขายเป็นเช่าแทน ล่าสุดปล่อยได้แล้ว 200-300 ยูนิต

“หลายคนอาจมองว่า แอลพีเอ็นแย่แล้ว เพราะไม่มียอดขายที่รอรับรู้รายได้จากการโอน (Backlog) จากที่ผ่านมาชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ แต่เรานำโครงการพร้อมอยู่มาสร้างเป็นแบ็คล็อกด้วยการเปิดให้ลูกค้าที่มีปัญหาถูกปฏิเสธสินเชื่อเข้ามาผ่อนดาวน์อยู่ก่อน 2 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าในอนาคต ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าที่กู้ไม่ผ่าน ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นหลังโควิด ในกลุ่มอาชีพแพทย์ นักบิน แอร์ สจ๊วต”

ปัจจุบันสต็อกของแอลพีเอ็นที่สร้างเสร็จและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสต็อกพร้อมขาย 9,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท โดยปีนี้ตลาดยังไม่ปกติ บริษัทตั้งเป้ารายได้ 10,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2563