สศช.ชู ‘แผน13’ พลิกโฉมประเทศ ดันไฮเทคปรับโครงสร้างผลิต

สศช.ชู ‘แผน13’ พลิกโฉมประเทศ ดันไฮเทคปรับโครงสร้างผลิต

สศช.เผยกรอบแผนฯ 13 ครอบคลุม 4 ด้าน พลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศ หวังการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า อุตฯการแพทย์ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เตรียมเสนอ ครม.ต้นเดือน มี.ค.ประกาศใช้ปีหน้า ชี้วัคซีนตัวแปรเศรษฐกิจปีนี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตระลอกใหม่ปี 2021” ในงานสัมนา “ส่องหุ้นไทยฝ่าวิกฤตฝ่าวิกฤตระลอกใหม่” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วานนี้ (25 ก.พ.) ว่า สศช.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566-2570) โดยจะเป็นแผนระดับชาติที่ประกาศใช้ภายในปี 2565 

ทั้งนี้ จะมีการนำกรอบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบภายในเดือน มี.ค.นี้

สำหรับแผนพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะไม่เหมือนกับแผนฉบับที่ผ่านมา ซึ่งที่ครอบคลุมการพัฒนาในทุกเรื่อง แต่แผนฉบับที่ 13 จะเป็นแผนที่หยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมาผลักดันให้สำเร็จใน 4 ด้าน 13 เรื่อง เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ 

นอกจากนี้ เป้าหมายของแผนฉบับที่ 13 จะมุ่งเน้นการตอบโจทย์การพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง และสร้างการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (High value and Ecosystem) โดยนอกจากจะต้องเน้นการปรับโครงสร้างและยกระดับการผลิตในประเทศในเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น ยังเน้นภาคเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมุ่งไปสู่สังคมลดการปล่อยคาร์บอนและมลภาวะเพื่อสอดล้องกับบริบทโลกและทำให้ไทยไม่ถูกกีดกันจากตลาดการค้าโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

สำหรับกรอบ 4 ด้านสำคัญที่ สศช.ใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ได้แก่ 

1.เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Value–added Economy) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยกระดับเทคโนโลยี การสร้างรายได้บนฐานเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอนาคต 

โดยในส่วนนี้มีหลายอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจมูลค่าสูงและช่วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเครื่องมือการแพทย์ รวมทั้งโลจิสติกส์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมากและเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยมีฐานและความพร้อมในระดับหนึ่ง

2.การสร้างสังคมแห่งโอกาส และลดความเสมอภาค (High Opportunity Society) โดยมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายตัวของรายได้ และสร้างโอกาสในการยกระดับและเพิ่มรายได้ให้กับคนที่มีรายได้ต่ำ และพัฒนาเอสเอ็มอี รวมทั้งพัฒนาเมืองรอง พัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีโอกาสในการพัฒนาเพื่อช่วยลดและแก้ปัญหาวงจรความยากจน

3.การให้ความสำคัญกับปัจจัยการขับเคลื่อนการพัฒนา (High Leverage Enablers) ให้ความสำคัญจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐล้าสมัย เพื่อนำไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

4.การพัฒนาสู่วิถีที่ยั่งยืน (Sustainability) โดยเน้นการผลิตผละการบริโภคที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางนี้จะสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (CBG) ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในปัจจุบันช่วยเพิ่มการลงทุนในท้องถิ่นชุมชนให้มากขึ้น 

นายดนุชา กล่าวว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ว่า สศช.คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2.5–3.5% โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆภาคส่วนมีการฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จนถึงปัจจุบันทั้งการลงทุนของภาคเอกชน การบริโภคของภาคเอกชน และการส่งออกซึ่งฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก 

ส่วนที่ยังไม่ฟื้นตัวคือในภาคส่วนของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยในส่วนของภาคการท่องเที่ยว และบริการภาครัฐกำลังจะมีมาตรการทางการเงินออกมาช่วยเหลือเพื่อรักษาระดับการจ้างงานในปีนี้ก่อนที่ภาคส่วนนี้จะสามารถฟื้นตัวได้

รวมทั้งเศรษฐกิจในปี 2564 มีปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังคือเรื่องของการบริหารและกระจายวัคซีนในประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการกระจายวัคซีนให้กับภาคส่วนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวเพื่อให้บุคลากรภาคท่องเที่ยวมีความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยว โดยกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าหากมีการเตรียมความพร้อมเรื่องนักท่องเที่ยวและกระจายวัคซีนได้มากจะส่งผลดีต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ เดิม สศช.คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในประเทศไทยได้ประมาณ 3.2 ล้านคน ซึ่งหากเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เร็วจากเดิมคาดว่าจะเริ่มทยอยรับนักท่องเที่ยวได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นการเปิดรับได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มครึ่งหลังของปีนี้ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจได้มากขึ้น

“ปัจจัยการรับนักท่องเที่ยวต้องพิจารณาควบคู่กันทั้งการกระจายวัคซีนในประเทศให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการรับวัคซีนของชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งมีการพูดถึงแนวทางเรื่องของวัคซีนพาสปอร์ต เป็นเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาควบคู่การเปิดรับนักท่องเที่ยวแต่ต้องดูข้อมูลทางการแพทย์ประกอบด้วยว่าทำได้มากน้อยเพียงใด หากเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เร็วมากขึ้นก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศด้วย โดยในระยะแรกต้องคาดหวังนักท่องเที่ยวรายได้สูงที่มีกำลังซื้อจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเป็นกลุ่มแรก”นายดนุชา กล่าว

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในปี 2564 ยังคงเป็นอีกปีที่ต้องพึ่งพาการจับจ่ายและการบริโภคของประชาชนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากประชาชนว่าเมื่อได้รับวัคซีนแล้วอย่าเพิ่งไปท่องเที่ยวในต่างประเทศให้ช่วยกันท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งใครที่จะซื้อสินค้าแบรนด์จากต่างประเทศก็ขอให้ช่วยกันมาซื้อสินค้าในประเทศจากท้องถิ่นและชุมชนมากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นด้วย