คมนาคมกาง 2 ทางออก พลิกคดี ‘โฮปเวลล์’

คมนาคมกาง 2 ทางออก  พลิกคดี ‘โฮปเวลล์’

“คมนาคม” ยันรัฐมี  2 ทางออกสู้คดี “โฮปเวลล์” ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปมนับอายุความ มีสิทธิคดีขาดอายุเป็นโมฆะ ลุยสอบผู้กระทำผิดทางละเมิด จี้รับผิดชอบความเสียหาย

“ยืนยันว่าขณะนี้รัฐยังไม่ได้จ่ายชดเชยอะไรให้กับโฮปเวลล์ เพราะเรายังสามารถสู้คดีได้” คำกล่าวยืนยันของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องจากขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบเอาผิดฐานละเมิดและหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้แต่งตั้งคณะทำงานหาผู้กระทำผิดทางละเมิด เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา

อีกทั้ง ยังอยู่ระหว่างรอฟังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงฯ ได้ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบกรณีเริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 ซึ่งผิดไปจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”

การดำเนินการในคดีทางละเมิด ตามมาตรา 10 วรรค 2 ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแล้ว เป็นหน้าที่กระทรวงคมนาคม ต้องหาตัวเจ้าหน้าที่ ที่กระทำผิด” นายศักดิ์สยาม กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า การต่อสู้คดีโฮปเวลล์ในขณะนี้ ถือว่าภาครัฐมีแนวทางที่มีความเป็นไปได้ในการต่อสู้การชดเชยค่าเสียหาย 2 แนวทาง คือ 

1.การรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จากข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าการนับอายุความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 อันเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม

2.แนวทางในการสืบหาผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 10 วรรค 2 ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ตามวรรค 1 ให้มีอายุความ 2 ปีนับตั้งแต่ที่หน่วยงานของรัฐรู้การละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือและลงมติในวันที่ 17 มี.ค.2564 ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานหาผู้กระทำผิดทางละเมิด ซึ่งแนวทางของการสืบหาผู้กระทำผิดทางละเมิด จะดำเนินการตรวจสอบถึงตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อรัฐที่บุคคลต้องรับผิดชอบ ก่อนจะรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ในการออกหนังสือเพื่อแจ้งเอาผิด คล้ายกับการเอาผิดโครงการรับจำนำข้าว

สำหรับกรณีการจ่ายเงินชดเชยโครงการโฮปเวลล์ สืบเนื่องมาจาก รัฐบาลเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ครม. เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการวันที่ 19 ก.ย.2532 และลงนามระหว่างกระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ชนะการประมูล เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 ในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หลังจากนั้นหลายรัฐบาลพยายามผลักดันโครงการแต่ประสบปัญหาเงินทุน จนกระทั่ง 30 ก.ย.2540 ช่วงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้โฮปเวลล์หยุดก่อสร้าง และเห็นชอบให้ยกเลิกสัญญา หลังจากนั้นโครงการต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง และ 20 ม.ค. 2541 ที่ประชุม ครม.ในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติเลิกสัญญา หลังก่อสร้าง 7 ปี คืบหน้า 13.7%

ทั้งนี้ ข้อขัดแย้งได้ข้อสรุปเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท.ดำเนินการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยภาครัฐต้องจ่ายชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ภายใน 180 วัน นับจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ประเมินมูลหนี้รวมตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2551 ซึ่งเป็นวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตัดสินคดี ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 รวม 25,411 ล้านบาท