ม.วลัยลักษณ์ วิจัยยกระดับ 'น้ำมันปาล์มดิบ' สู่เกรดเวชสำอาง

ม.วลัยลักษณ์ วิจัยยกระดับ 'น้ำมันปาล์มดิบ' สู่เกรดเวชสำอาง

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จับมือภาคีเครือข่าย วิจัยเพื่อยกระดับการผลิตของโรงบีบปาล์มชุมชนจากเกรดอาหารสัตว์เป็นเกรดเวชสำอาง ด้วยนวัตกรรมการกระตุ้นผลปาล์มสุกด้วยคลื่นไมโครเวฟร่วมกับแก๊สซิฟิเคชัน 

161425077575
รองศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ  หนิสอ  ในฐานะหัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร และศูนย์ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุเชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการพลาสมาฯ ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านปาล์มน้ำมัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แผนกเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแสงอรุณปาล์มออยล์จังหวัดพังงา ภายใต้การสนับสนุนจาก สวทช. อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สกว.และสวก.
ร่วมกันวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันปาล์มดิบจากเดิมย่างด้วยเตาเผาฟืน เปลี่ยนเป็นการกระตุ้นด้วยคลื่นไมโครเวฟร่วมกับความร้อนจากเตาแก๊สซิฟิเคชัน  ทำให้โรงบีบปาล์มชุมชนสามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิตน้ำปาล์มดิบจากเกรดอาหารสัตว์กิโลกรัมละ 20 – 30 บาท เป็นเกรดเวชสำอางกิโลกรัมละ 100 – 1000 บาท และถือเป็นโรงบีบปาล์มชุมชนแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบคุณภาพสูง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันปาล์มดิบมากกว่า 10 เท่า  ที่สำคัญยังพบว่าในน้ำมันปาล์มที่สกัดได้มีวิตามิน A และวิตามิน E สามารถต่อยอดพัฒนาไปเป็นอาหารเสริมสุขภาพและเครื่องสำอางได้ด้วย
"ทีมนักวิจัยได้ทำการวิจัยชิ้นนี้มาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถยกระดับการผลิตน้ำมันปาล์มดิบจากเกรดอาหารสัตว์ซึ่งมีค่า โดบี้ต่ำกว่า 1 มีปริมาณกรดไขมันอิสระสูงกว่า 10% เป็นน้ำมันปาล์มดิบเกรดเอและเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งมีค่าโดบี้สูงกว่า 2.4 มีปริมาณกรดไขมันอิสระต่ำกว่า 2.8% และสามารถลดเวลาของการผลิตได้ 2 เท่า และเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมวันละ 2 ตัน เป็นวันละ 4 ตัน  และปัจจุบันภาคีเครือข่ายการวิจัยได้แก่ โรงบีบปาล์มแสงอรุณปาล์มออยล์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ จะร่วมมือกันพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ เพื่อยกระดับการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของโรงบีบปาล์มชุมชนในภาคใต้จากเกรดอาหารสัตว์เป็นเกรดอาหารเสริมสุขภาพและเวชสำอาง ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงบีบปาล์มชุมชน และจะทำให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤตของราคาปาล์มตกต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย"
161425078684
งานวิจัยแบบนี้ถือเป็นการวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่และใช้ได้จริง สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมฐานราก และถือเป็นงานวิจัยอีกระดับที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต ยกระดับการประกอบอาชีพของประชาชน สร้างรายได้ให้ประชาชน ตอบโจทย์ชุมชนสังคม
ด้าน ไพโรจน์ ภู่ต้อง กรรมการผู้จัดการ หจก. แสงอรุณปาล์มออย กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันปาล์มดิบกระตุ้นด้วยคลื่นไมโครเวฟร่วมกับความร้อนจากเตาแก๊สซิฟิเคชัน ของทีมนักวิจัยดังกล่าว ทำให้เจ้าของสวนปาล์มรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนโรงงานมีเทคโนโลยี "การอบแห้ง" ทดแทนการใช้เตาฟืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับการแก้ปัญหาทางการเกษตรที่ยั่งยืนมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการอบแห้งสำหรับชุมชน โดยเฉพาะพืชเศรษกิจที่มีเปลือก  อาทิ ปาล์ม ข้าว ลำไย  หมาก  เป็นต้น
161425080074