อดีตบิ๊ก รฟท.เจอคุก 9 ปี 'รื้อ' สัญญาแอร์พอร์ตลิงค์

อดีตบิ๊ก รฟท.เจอคุก 9 ปี 'รื้อ' สัญญาแอร์พอร์ตลิงค์

โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มูลค่า 25,000 ล้านบาท คดีหมายเลขแดงที่ อท 236/2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ยื่นเรื่องฟ้องคดีเอง

สำหรับอดีตผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ที่ถูกจำคุกตามที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยระบุนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มูลค่า 25,000 ล้านบาท คดีหมายเลขแดงที่ อท 236/2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ยื่นเรื่องฟ้องคดีเอง

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนายจิตต์สันติ ธนะโสภณ อดีตผู้ว่าการ รฟท. จำเลยที่1 กับพวก 1 ราย คือ นายไกรวิชญ์ หรือสุรางค์ ศรีมีทรัพย์ อดีตหัวหน้าสำนักงานกองกฎหมาย รฟท.

โดยศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า นายจิตต์สันติ ธนะโสภณจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ลงโทษจำคุก 9 ปีให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี ส่วนจำเลยอีกราย ยืนตามศาลชั้นต้น

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และความผิดทางอาญานายจิตต์สันติ และนายไกรวิชญ์ หรือสุรางค์ ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากการไต่สวนพบว่า นายจิตต์สันติ ได้แก้ไขสัญญาในเอกสารประกวดราคาระหว่าง รฟท. กับบริษัทเอกชนเอื้อประโยชน์แก่เอกชน เป็นเหตุให้ รฟท.ได้รับความเสียหาย

คณะกรรมการปปช.ระบุว่า มีการกระทำทุจริตร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ 1.2 พันล้านบาท เพราะโครงการนี้ไม่มีการตรวจสอบวงเงินค่าธรรมเนียมตั้งแต่แรก โดยค่าธรรมเนียมการเงินที่ผู้รับเหมาตกลงกับรฟท.คือ1.6 พันล้านบาท และผู้รับเหมาได้เบิกเงินก้อนนี้จากธนาคารไปแล้วแต่ในความเป็นจริงค่าธรรมเนียมเงินกู้มีจำนวนเพียง 400 ล้านบาทเท่านั้น และไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆที่ต้องจ่ายอีกเลย โดยส่วนต่างที่เกิดขึ้น 1.2 พันล้านบาทที่รฟท.ต้องรับผิดชอบ จะไม่เกิดขึ้นถ้าทำสัญญาอย่างตรงไปตรงมา

ส่วนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม จากการไต่สวนพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่า ได้กระทำความผิดในโครงการนี้ตามที่ถูกกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

สำหรับโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ผู้ชนะการประมูลก่อสร้างคือกลุ่ม B.GRIM ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ซีเมนส์ เอจี จากเยอรมนี บริษัท บีกริม อินเตอร์เนชั่นแนล และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น โดยเสนอค่าก่อสร้าง 25,917 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 25,917,060,209 บาท หรือเสนอค่าก่อสร้างต่ำกว่าราคากลางเพียง 60,209 บาทเท่านั้น โดยการก่อสร้างมีปัญหาล่าช้า และกลุ่มผู้รับจ้างขอรับการขยายเวลาจาก รฟท.หลายครั้ง