Egg Board วางเป้าลดไข่ไก่ 65 ล้านฟองแก้ราคาตกต่ำ

Egg Board วางเป้าลดไข่ไก่ 65 ล้านฟองแก้ราคาตกต่ำ

การระบาดของโควิด 19 ระลอก 2 นี้ ไทยไม่มีปัญหาเรื่องไข่ไก่ขาดแคลน จนต้องพิจารณานำเข้า ที่เกิดขึ้นในต้นปีที่ผ่านมา แต่ตรงกันข้ามในขณะนี้กำลังมีปัญหาเรื่องราคาไข่ไก่ตกต่ำ Egg Board จึงเร่งส่งออกและเสนอขอใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

         นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) กรมปศุสัตว์ ได้การรายงานสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ในปัจจุบัน และข้อร้องเรียนการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำโดยการผลักดันการส่งออก ตามข้อเสนอขอฟองสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ (กรมปศุสัตว์) แจ้งมติต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการเสนอขอใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามระเบียบกองทุนรวมฯ ต่อไปโดยด่วน 

          ทั้งนี้ สถานการณ์การผลิตไข่ไก่ในปัจจุบันมี แผนการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ในปี 2563 จำนวน 3,800 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 100(ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 63) และปี 2564 จำนวน 3,800 ตัว ยังไม่มีการนำเข้าเลี้ยง (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.พ. 64) แผนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2563 จำนวน 440,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 439,168 ตัว (99.8%) (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 63) และในปี 2564 จำนวน 440,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 74,270 ตัว (16.9%) (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.พ. 64) จำนวนไก่ไข่ยืนกรง ปัจจุบัน 51,127,140 ตัว ประมาณการผลิต 42,435,526 ฟองต่อวัน (ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 64) 

161426088493

 การส่งออกไข่ไก่สด ปี 2563 (ม.ค. - ธ.ค.) จำนวน 221.29 ล้านฟอง ลดลงจากช่วงเดียวกันในปี 2562 ร้อยละ 18.45 ตลาดหลัก คือ ฮ่องกง คิดเป็นร้อยละ 49 รองลงมา คือ สิงคโปร์ ร้อยละ 48 ราคา ณ วันที่ 15 ก.พ. 64 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ฟองละ 2.50 บาท ลูกไก่ไข่ตัวละ 28 บาท ไก่ไข่รุ่นตัวละ 150 บาท ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ปี 2563 (ม.ค. - ธ.ค.) เฉลี่ยฟองละ 2.58 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 1.9 และปี 2564 (ม.ค. - มี.ค.) ประมาณการต้นทุน ไตรมาสที่ 1 เฉลี่ยฟองละ 2.66 บาท โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 

          สำหรับการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของกรมปศุสัตว์ มีมาตรการผลักดันการส่งออกไข่ไก่และปลดไก่ไข่ชดเชย เดือน ธ.ค. 2563 – 11 ก.พ. 2564 เป้าหมายเพื่อลดปริมาณไข่ไก่ส่วนเกินในตลาดภายในประเทศ 65 ล้านฟอง ส่งออกแล้ว 16,787,581 ฟอง ปลดไก่ไข่ชดเชยแล้ว 894,267 ตัว เทียบเท่าส่งออก 45,470,305 ฟอง รวมดำเนินการแล้ว 62,257,886 ฟอง คิดเป็นร้อยละ 95.78 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการ Egg Board เรื่อง หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียนด้านการกระจายพันธุ์ไก่ไข่ และการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรณรงค์เพิ่มการบริโภคไข่ไก่ โดยเพิ่มผู้แทนจาก 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งนี้ จะนำมติดังกล่าวเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามต่อไป 

 

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า ระดับราคาไข่ไก่จะเป็นไปตามกลไกตลาดเสมอ โดยการผลิตไข่ไก่ของไทยนั้น เป็นการรองรับการบริโภคในประเทศ มีผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย หรือรวมตัวกันในรูปแบบชมรมและสหกรณ์ ส่วนการส่งออกไข่ไก่นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องระบายผลผลิตส่วนเกินให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ภายในประเทศ โดยผู้ส่งออกไข่ไก่ของไทยต้องยอมส่งไข่ในราคาขาดทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนและสหรัฐฯ จึงไม่มีใครอยากทำการส่งออกไข่ เพราะมันไม่ใช่การสร้างกำไร แต่เป็นการเสียสละเพื่อเกษตรกรและคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน

"ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรในปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึง 2.69 บาทต่อฟอง เกษตรกรทั่วประเทศต่างพยายามแก้ปัญหาร่วมกันด้วยการวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ เช่น การปลดแม่ไก่ยืนกรง และปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน การให้ผลผลิตของแม่ไก่จึงลดลง สวนทางกับการบริโภคที่มากขึ้นในช่วงที่หลายคนกักตัวอยู่บ้าน อาจทำให้ราคาไข่ไก่ปรับขึ้นเล็กน้อยตามกลไกตลาด  อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าปริมาณไข่ไก่ในประเทศไม่มีทางขาดแคลน”

เมื่อพิจารณาจากวัฏจักรไข่ไก่ที่ราคามีขึ้นมีลงตลอดทั้งปี ในแต่ละปีจะมีช่วงที่ราคาไข่ไก่สูงเพียง 4-5 เดือน ขณะที่ช่วงที่ราคาตกต่ำมีมากถึง 7-8 เดือน ยังมีปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต ภาวะโรค ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ ฯลฯ เป็นตัวกำหนดราคาในแต่ละช่วง โดยเฉพาะเดือนมีนาคมนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนที่การบริโภคของนักเรียนจะต่ำลง เมื่อผนวกกับเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 เข้ามาทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวหายไป คนกินไข่หายไปจำนวนมาก ทำให้ปริมาณไข่เหลือล้นตลาด ราคาตกต่ำลงอีก เกษตรกรจึงวางแผนการผลิตด้วยการเข้าเลี้ยงแม่ไก่น้อยลง ทำให้ปริมาณไข่ไก่สมดุลขึ้น จึงเพิ่งเริ่มเห็นการขยับราคาขึ้นบ้าง ขอผู้บริโภคเข้าใจสถานการณ์

 

  

ทั้งนี้ จากสถิติราคาไข่ไก่ปี 2557-2562 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยต่ำกว่าต้นทุนมาโดยตลอด พบว่า ปี 2557 ขาดทุน 0.12 บาทต่อฟอง ปี 2558 ขาดทุน 0.14 บาทต่อฟอง ปี 2559 เป็นปีเดียวที่มีกำไรอยู่ที่ 0.06 บาทต่อฟอง ปี 2560 ขาดทุน 0.21 บาทต่อฟอง ปี 2561 ขาดทุน 0.30 บาทต่อฟอง เป็นที่มาของการร่วมกันสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board) เป็นผู้ผลักดันการเดินหน้ามาตรการต่างๆ โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนและเกษตรกรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ช่วยกันปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ

 

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการผลักดันส่งออกไข่ไก่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาไข่ตกต่ำได้อย่างเบ็ดเสร็จ  เมื่อราคาในประเทศสูงขึ้นเล็กน้อย การส่งออกก็หยุดชะงัก หันมาขายในประเทศแทน ราคาไข่ก็วนตกต่ำอีก 

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จควรดำเนินคู่กับการปรับแผนบริหารจัดการใหม่ทั้งระบบ จากการวิเคราะห์ พบว่าปัญหาราคาไข่ตกต่ำในขณะนี้เป็นผลมาจากมาตรการรัฐที่ห้ามส่งออกเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่โควิดระบาดระลอกแรก เกิดการกักตุน ไข่จึงไม่พอบริโภค

เกษตรกรจึงเพิ่มปริมาณเลี้ยงจนถึงขณะนี้ผลผลิตไข่ไก่มีมากเกินความต้องการ แต่ไม่สามารถปลดไก่ยืนกรงได้เพราะไม่มีลูกไก่ทดแทน ในกรณีลูกไก่ ยังมีราคาสูงอยู่  และผู้ผระกอบการบางรายกำหนดให้ซื้อพ่วงอาหารที่ราคาแพงเช่นกัน ซึ่งจะเป็นผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น

“ปัญหานี้ต้องนำมาหารือกัน สาเหตุที่ลูกไก่แพงเพราะปริมาณพ่อ-แม่พันธุ์อยู่ในระดับที่พอดี คือ 1 แสนตัว สามารถผลิตลูกไก่เพื่อใช้เป็นไก่ยืนกรงได่ประมาณ 10 ล้านตัว ในปริมาณพ่อ-แม่พันธุ์ที่พอดี้ทำให้เกษตรกรหาซื้อลูกไก่ยาก จึงไม่กล้าปลดไก่ยืนกรงที่มีอยู่ ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับแผนบริหารจัดการตรงนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ปัญหาราคาไข่ไก่วนกลับมาตกต่ำอีก