5จี 'หัวเว่ย'โตไม่หยุด คว้าสัญญา 1,000 ฉบับ

5จี 'หัวเว่ย'โตไม่หยุด คว้าสัญญา 1,000 ฉบับ

5จี 'หัวเว่ย' โตไม่หยุด คว้าสัญญา1,000 ฉบับจากกว่า 20 อุตสาหกรรมแม้ถูกกีดกันจากสหรัฐและชาติตะวันตกอื่นๆ

แม้หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ของจีนจะถูกกดดันและถูกกีดกันอย่างหนักจากสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก ไม่ให้ขยายธุรกิจ5จี แต่ยักษ์ใหญ่ของจีนรายนี้ก็ดิ้นรนต่อสู้และรับมือกับกระแสกดดันได้อย่างดี จนทำให้คว้าสัญญาธุรกิจ5จีจากบริษัทต่างๆในกว่า20อุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาจากตัวเลขแล้ว ถือว่าหัวเว่ยทำได้ดีทีเดียว สำหรับบริษัทสัญชาติจีนที่ถูกกดดันรอบด้านในตลาดโลก

“เคน หู” รองประธานหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ บอกว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงนามข้อตกลงธุรกิจ5จีกับบริษัทต่างๆจำนวนกว่า 1,000 แห่งตามแผนขยายธุรกิจเครือข่ายเพื่อชดเชยรายได้ในส่วนของธุรกิจสมาร์ทโฟนที่หายไปและในจำนวนบริษัทกว่า1,000 แห่งนี้เป็นบริษัทที่กระจายในอุตสาหกรรมต่างๆกว่า 20 อุตสาหกรรมด้วยกัน

“หัวเว่ยบ่มเพาะแอพพลิเคชัน5จีกับบรรดาหุ้นส่วนทั่วทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมการเงินและอุตสาหกรรมด้านการขนส่ง”เคน กล่าวในพิธีเปิดงานเอ็มดับเบิลยูซี เซี่ยงไฮ้ งานแสดงสินค้าด้านไอทีและอุปกรณ์เคลื่อนที่ใหญ่สุดของเอเชีย

ในงานนี้ หัวเว่ยได้กล่าวถึงการสร้างเครือข่าย5จีของจีนที่ยิ่งใหญ่และครอบคลุมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ร่วมกับบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการได้รับออร์เดอร์เกี่ยวกับเทคโนโลยี5จีเพิ่มขึ้นจากประเทศต่างๆในเอเชีย แอฟริกาและในภูมิภาคอื่นๆ

“ด้วยการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทต่างๆเหล่านี้ ทำให้หัวเว่ยเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี5จีให้ช่วยสร้างความแตกต่างแก่อุตสาหกรรมต่างๆให้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ”เคน กล่าว

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศยกระดับมาตรการกีดกันบริษัทหัวเว่ย โดยพุ่งเป้าไปที่การปิดช่องทางไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงชิปและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังเพิ่มชื่อ บริษัทในเครือหัวเว่ยอีก 38 แห่งไว้ในบัญชีดำ ส่งผลให้ยอดรวมบริษัทในเครือหัวเว่ยที่ถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐมีจำนวน 152 บริษัท และบริษัทเหล่านี้ถูกขึ้นบัญชีดำเพราะสหรัฐมองว่า หัวเว่ยอาศัยบริษัทกลุ่มนี้เพื่อฉวยประโยชน์จากเทคโนโลยีของสหรัฐ

รัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มองว่า หัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5จีของจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ และสหรัฐอ้างว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจถูกใช้เพื่อทำการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ ขณะที่หัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด

ขณะที่เคาท์เตอร์พอยท์ รีเสิร์ช เปิดเผยว่า ในไตรมาส4ปี 2563 หัวเว่ยขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกได้ 33 ล้านเครื่อง ลดลงเฉลี่ยปีต่อปี 41% มีส่วนแบ่งตลาด 8% ทำให้เป็นบริษัทที่ทำยอดขายสมาร์ทโฟนอยู่ในอันดับ 6 ของโลก เทียบกับไตรมาส2ของปีเดียวกันที่บริษัททำยอดขายสมาร์ทโฟนได้มากที่สุดของโลก

การที่ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยร่วงลงไปอยู่อันดับ6นั้น ตามหลังออปโป้ และวิโว คู่แข่งสัญชาติเดียวกันและยังตามหลังแอ๊ปเปิ้ลและซัมซุงด้วย

ขณะที่คานาลิส ระบุว่า หัวเว่ยจำหน่ายสมาร์ทโฟนในไตรมาส4ของปีที่แล้วได้ 32 ล้านเครื่องลดลงเกือบ 43% จากปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่หัวเว่ยหลุดจากท็อป 5 บริษัทที่ทำยอดขายได้มากที่สุดในโลกในรอบ6 ปี

“การคว่ำบาตรของสหรัฐทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในตลาดโลกลดลงอย่างมาก”แอมเบอร์ หลู นักวิเคราะห์จากคานาลิส รีเสิร์ช ระบุ

คานาลิส รีเสิร์ช ยังระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาทั้งปี2563 หัวเว่ยทำยอดขายสมาร์ทโฟนได้มากที่สุดอันดับ3

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงว่าหัวเว่ยน่าจะลดกำลังการผลิตสมาร์ทโฟนลงเหลือเพียง 50 ล้านเครื่องเท่านั้น เนื่องจากหัวเว่ยไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อชิ้นส่วนที่ใช้ผลิต 5จี ทำให้ต้องหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตมือถือ และอุปกรณ์ 4จีแทน ส่วนมือถือ 5จีก็อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าช่วงก่อนหน้านี้

ปีที่แล้วหัวเว่ย มียอดขายทั่วโลกตกไปเป็นอันดับสาม ตามหลังซัมซุงและแอ๊ปเปิ้ล และคาดว่าปีนี้ตัวเลขยอดขายน่าจะลดลงไปอีก เนื่องจากไม่สามารถผลิตมือถือ 5จีตามความต้องการของตลาดได้ ประกอบกับหัวเว่ยขายแบรนด์ออร์เนอร์( Honor) ออกไปแล้ว ทำให้ยอดขายหายไปจำนวนมาก

“เหริน เจิ้งเฟย” ซีอีโอหัวเว่ย เคยกล่าวว่าแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หัวเว่ยก็จะไม่ขายธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่สถานการณ์ยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากไม่สามารถซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตอุปกรณ์ 5จีได้อีกต่อไป

พอมาถึงรัฐบาลสหรัฐในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน สถานการณ์ของหัวเว่ยก็ไม่ถือว่าดีขึ้น เพราะสำนักงานการค้าของรัฐบาลสหรัฐระบุเมื่อไม่นานมานี้ว่าไม่มีเหตุผลที่จะยกเว้นการแบนหัวเว่ย จึงทำให้คาดว่าหัวเว่ยน่าจะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดต่อไป