หนังเล่าโลก : I Care a Lot ช่องโหว่สังคมสูงวัย

หนังเล่าโลก : I Care a Lot ช่องโหว่สังคมสูงวัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วรวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้วการดูแลคนกลุ่มนี้แตกต่างกันไปตามระดับการพัฒนาแต่แม้เป็นประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 โลกอย่างสหรัฐการดูแลผู้สูงอายุก็ยังมีช่องโหว่ไม่เชื่อก็ลองดูภาพยนตร์เรื่องนี้

I Care a Lot ทางช่องเน็ตฟลิกซ์ เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ เจ เบลกสัน บอกเล่าเรื่องราวของ มาร์ลา เกรย์สัน ผู้พิทักษ์ (the guardian) มืออาชีพตามกฎหมาย คอยดูแลทรัพย์สินให้กับคนชราที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ฟังดูแล้วเป็นอาชีพที่มีคุณธรรมคอยดูแลคนแก่ที่ถูกทอดทิ้ง แต่มาร์ลาจับมือกับเครือข่ายทั้งหมอ และบ้านพักคนชรา เลือกเหยื่อฐานะดีส่งให้ศาลพิจารณาเป็นบุคคลไร้ความสามารถต้องอยู่ในความดูแลของมาร์ลา เพื่อเธอจะเข้าไปจัดการทรัพย์สินแล้วยักย้ายถ่ายเทมาเป็นของตนเองโดยที่ลูกหลานไม่มีสิทธิโต้แย้ง เพราะศาลอนุญาตให้ผู้ดูแลจัดการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เส้นทางธุรกิจที่โรยด้วยกลีบกุหลาบทำเงินทำทองให้มาร์ลามากโขต้องสะดุด เมื่อเธอเจอเหยื่อรายล่าสุด “เจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน” ที่ไม่ใช่ป้าแก่ธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ แต่มีเบื้องหลังโยงใยแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ จากที่เคยคิดว่าจะหลอกเงินกันได้ง่ายๆ ก็ไม่ง่ายเสียแล้ว

เรื่องอื้อฉาวชวนตกใจแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐจริงหรือ บอกเลยว่า “จริง” ผู้กำกับเบลกสันเผยกับเว็บไซต์ The Moveable Fest เมื่อเดือน ก.ย.ว่า เรื่องราวเหล่านี้น่ากลัวและเกิดขึ้นได้ทั่วไป

“ผมแปลกใจเมื่ออ่านเรื่องพวกนี้ที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ คิดว่าเป็นเรื่องชวนหดหู่ที่ใครบางคนมาเคาะประตูบ้านแล้วพาคุณออกไปด้วยเหตุผลที่ไม่น่าเป็นไปได้” ผู้กำกับกล่าว

เว็บไซต์ denofgeek.com ยกตัวอย่างคดีดังของผู้พิพากษาจอห์น ฟิลลิปส์แห่งนิวยอร์ก ที่สร้างอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ในย่านบรูคลิน มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ระหว่างทศวรรษ 80-90 รวมถึงโรงภาพยนตร์หลายแห่งที่กลายเป็นแลนด์มาร์คในย่านนั้น แต่เมื่อเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมศาลพิพากษาว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถในต้นทศวรรษ 2000 ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่บั้นปลายชีวิตผู้พิพากษาฟิลลิปส์กลับถูกปล่อยให้แข็งตายที่คลินิกเถื่อนรักษาโรคสมองเสื่อมเมื่อปี 2551 ผู้พิทักษ์ขายโรงภาพยนตร์และสินทรัพย์อื่นๆ ของฟิลลิปส์ได้เงินหลายล้านดอลลาร์ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่ยินยอม

ถ้าเป็นเมืองไทยเรื่องหลอกลวงคนแก่มักเป็นการหลอกโอนเงิน หรือมิจฉาชีพตระเวนหลอกคนแก่จับฉลากรับรางวัล ซึ่งหลอกกันง่ายๆ ไม่ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายใดๆ หากพิจารณาตัวเลขผู้สูงอายุทั่วโลกเรื่องหลอกลวงหาผลประโยชน์น่าจะมีอีกมาก ข้อมูลจากสหประชาชาติชี้ว่า จำนวนประชากรอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีทั่วโลกในปี 2563 อยู่ที่ราว 727 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าภายในปี 2593 ทะลุ 1.5 พันล้านคน

สัดส่วนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 9.3% ในปี 2563 เป็น 16% ในปี 2593 ภายในกลางศตวรรษนี้ ประชากร 1 ใน 6 ทั่วโลกมีอายุไม่น้อยกว่า 65 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มประชากร 65 ปีขึ้น เป็นผู้หญิง 55% กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปเป็นผู้หญิง 62%

ชะตากรรมผู้สูงวัยใน I Care a Lot ถ้าดูด้วยแว่นของคนไทยก็คงคิดว่า คนตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกันนั้นใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ ลูกเมื่อเติบโตถึงวัยหนึ่งก็ต้องโบยบินตามวิถีทางของเขา พ่อแม่ไม่ประคบประหงมเหมือนคนไทย ส่วนพ่อแม่ก็ใช้ชีวิตของตนเองไป ชีวิตใครชีวิตมัน ยามชราเมื่อมีปัญหาช่วยเหลือตนเองไม่ได้ก็มีข้อกฎหมายเข้ามาจัดการ แต่หนังเรื่องนี้ยังมีมุมความผูกพันระหว่างแม่ลูกมาให้เห็นบ้างเล็กน้อย ท่ามกลางความเอารัดเอาเปรียบของผู้พิทักษ์ก็ได้ความผูกพันธรรมชาติตามสายเลือดมาตัดวงจรความชั่วร้าย แต่จะดีกว่าไหมถ้าลูกจะใส่ใจพ่อแม่ให้มากกว่าเดิมไม่ว่าอยู่ในประเทศใด เพราะความรักของพ่อแม่นั้นเป็นสากล