‘เคแบงก์’ชี้ช่วงโควิด-19 เจ้าสัวไทยไม่เปลี่ยนพอร์ต

‘เคแบงก์’ชี้ช่วงโควิด-19 เจ้าสัวไทยไม่เปลี่ยนพอร์ต

“เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง”เผยโควิด-19 กระทบกลุ่ม“มั่งคั่งสูง”ในเอเชียเล็กน้อย ขณะเดียวกันพบเศรษฐีหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 15-20% จากกระแสตื่นตัวด้านเทคโนโลยี ผลสำรวจชี้กลุ่มคนรวยสนใจลงทุนด้านอีเอสจีมากขึ้น ด้าน“ลอมบาร์ด”เตือนคริปโตเคอเรนซี่เสี่ยงสูง

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังปรับตัวกับโลกในยุคหลังโควิด-19 กลับพบว่ากลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้มากนัก อาจมีเพียงมูลค่าทรัพย์สินลดลงเท่านั้น และด้วยแนวโน้มของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดเศรษฐีหน้าใหม่ในเอเชียเพิ่มขึ้น

“เราคาดว่าแนวโน้มของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15-20% ในปีนี้และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะมีโฟกัสในเอเชียมากขึ้น ทำให้แนวโน้มธุรกิจในเอเชียยังเติบโตได้ต่อเนื่อง”

ผลงานล่าสุดปี 2563 ของ เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง ยังเติบโต มีจำนวนลูกค้าราว 12,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 8 แสนล้านบาท โดยมีสินทรัพย์ลงทุนรวมประมาณ 5.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 67%

ทั้งนี้ข้อมูลจากไนท์แฟรงค์ เผยข้อมูลจากรายงาน THE WEALTH REPORT 2020 เกี่ยวกับบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูง มีความมั่งคั่งสูงปี 2562 ใน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวันว่า มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 27,384 คน

ขณะที่ ลอมบาร์ด โอเดียร์ ร่วมกับ เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง และพันธมิตรทางธุรกิจ 5 รายในภูมิภาคเอเชีย เปิดผลสำรวจล่าสุดในหัวข้อ ‘สานสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่าน และพลิกโฉม: การเข้าถึงผู้มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชียในยุค New Normal ซึ่งศึกษามุมมองและข้อกังวลของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง และผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความท้าทาย พร้อมเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนบริการการบริหารความมั่งคั่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น

เจ้าสัวไทยไม่เปลี่ยนพอร์ต

รายงานฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นโดยการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง 150 รายในหลากหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน ครอบคลุมมุมมองในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี การลงทุน ครอบครัว และความยั่งยืน

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ผลสำรวจจากรายงานฉบับนี้เป็นการตอกย้ำความต้องการของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชีย เล็งเห็นถึงความผันผวนของตลาดมากขึ้น

อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่เคยผ่านวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงินในครั้งก่อนๆไม่ได้ตื่นตระหนกต่อวิกฤติครั้งนี้มากนัก จากผลสำรวจพบว่า 70% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะระยะเวลาของการลงทุน

ด้านการบริหารสินทรัพย์ แม้ว่าจะมีผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียบางส่วนเลือกที่จะบริหารจัดการแบบที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (Conservative) โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เงินฟรังก์สวิส เงินเยน และพันธบัตรรัฐบาล แต่ก็ยังมีผู้มีความมั่งคั่งสูงอีกจำนวนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสในช่วงเวลานี้ โดยให้ความสนใจกับหุ้น และตราสารหนี้ภาคเอกชน เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำ จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่

ด้วยแนวโน้มการหมุนกลับของโลกาภิวัตน์ ผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายราย ต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาด้านการจัดการบริหารสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยเสนอแนวทางและให้คำแนะนำ ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการบริหารสินทรัพย์ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอน

โดย 87% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย กล่าวว่า การมีบริการพิเศษที่นอกเหนือบริการด้านลงทุน จะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกธนาคาร โดยบริการ 3 อันดับแรกที่ผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยให้ความสำคัญสูงสุด ได้แก่ ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์สิน การเข้าถึงโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์ และความสามารถในการเข้าถึงเครือข่ายผู้ประกอบการ

เทรนด์ลงทุน อีเอสจี มาแรง

นอกจากนี้ กระแสด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ในปัจจุบันกลุ่มผู้มีความมั่งคั่ง เริ่มให้ความสำคัญและสนใจมากขึ้น มองว่าเทรนด์การลงทุนนี้จะเป็นกระแสที่มาแรงในอนาคต รวมถึงทางด้านผลตอบแทนนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นด้วย อย่างเช่น กองทุน K Climate Transition ในช่วง 6 เดือนมานี้ เริ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีราว 5-10% ในอนาคตเทรนด์ ESG จะสามารถให้ผลตอบแทนโดดเด่นเทียบเท่ากระแสเทคโนโลยีได้

ดังนั้นมี 4 เรื่องที่ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ต้องทำเพื่อช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้าในชีวิตวิถีใหม่ คือ 1. เร่งพัฒนาคุณภาพของบริการดิจิทัล ทั้งในด้านการสื่อสาร การส่งมอบบริการ การรายงานข้อมูลทางการเงิน และการทำธุรกรรม ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการให้บริการของไพรเวทแบงเกอร์ 2. สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง และติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้สะดวกขึ้นในทุกๆ ผลิตภัณฑ์

3. เสริมความแข็งแกร่งของบริการที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลงทุนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนนอกตลาดและลงทุนโดยตรงในบริษัท หรือบริการให้คำแนะนำด้านอสังหาริมทรัพย์และการวางแผนความมั่งคั่ง และ 4. เป็นสื่อกลางในการพิสูจน์ให้เห็นถึงผลตอบแทนในระยะกลางและระยะยาวของการลงทุนอย่างยั่งยืน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง

ลอมบาร์ดชี้คริปโตเสี่ยง

นายวินเซนต์ มาเนียนาต์ หุ้นส่วนจำกัดและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลอมบาร์ด โอเดียร์ เอเชีย เปิดเผยว่า เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นในเอเชียรวมถึงไทย จากแนวโน้มการค้าโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มหุ้นพลังงาน ธนาคาร การผลิต หรือหุ้นกลุ่มวัฏจักรปรับตัวขึ้นตามซึ่งตลาดหุ้นไทยมีหุ้นวัฏจักรอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีทิศทางที่ดีต่อได้หลังวิกฤติโควิด

ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด เช่น อสังหาริมทรัพย์ และคอมมูนิตี้ ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่าสินทรัพย์ในตลาดและให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ

ส่วนทางด้านการลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ เรายังมองว่า น่าเป็นห่วง เพราะยังไม่มีกฎเกณฑ์กำกับมากนัก และมีความผันผวนมาก ยังเป็นความเสี่ยงสูง จึงไม่มีความจำเป็นที่ยังต้องลงทุนหรือแนะนำการลงทุน

“ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ดีที่สุดของธุรกิจไพรเวทแบงกิ้ง เรารับรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ และการที่เรามีพันธมิตรในแต่ละประเทศทำให้สามารถดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดได้แม้ในวิกฤติโควิด-19ที่มีความท้าทายก็ตาม”