ยืนยัน 'ตลาดจตุจักร' ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19

ยืนยัน 'ตลาดจตุจักร' ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19

กรมควบคุมโรค ยืนยันตลาดจตุจักร ไม่ได้เป็นต้นกำเนิดเชื้อโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่น ประเทศจีน ระบุไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามาจากสัตว์ชนิดใด พร้อมย้ำ ไทยมีการเฝ้าระวังค้างคาว และสถานที่ต่างๆ ป้องกันโรคแพร่จากสัตว์สู่คน

จากกรณีสำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข่าวว่าตลาดจตุจักร อาจเป็นต้นกำเนิดของเชื้อโควิด-19 ก่อนตลาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน นั้น

วันนี้ (24 ก.พ.2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า กรมควบคุมโรคขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 มีข้อสงสัยว่าอาจจะข้ามมาจากสัตว์ แต่ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามาจากสัตว์ชนิดใด  และมีการลงพื้นที่ตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19ในจีน ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเช่นกัน จึงอาจทำให้มีการมองหาประเทศอื่นๆที่มีชายแดนติดจีน  อีกทั้งเป็นการพูดแบบกว้างๆ โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมายืนยัน

สำหรับ ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังโดยมีนักวิจัยที่เก็บตัวอย่างค้างคาวมงกุฎมาตรวจสอบเพื่อหาเชื้อโควิด-19 โดยร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศึกษาค้าวคาวในเมืองไทยต่อเนื่องมา 20 ปีว่า โอกาสที่จะมีโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนหรือไม่ ทั้งนี้ สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรน่า มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อโรคเฉพาะในสัตว์โดยไม่แพร่สู่คน เช่น เชื้อไวรัสโคโรน่าในสุนัขและแมว ก็พบในสัตว์อื่น เช่น ค้างคาว ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานชี้ชัดว่าเชื้อโควิด-19 ที่มีการระบาดในขณะนี้มาจากสัตว์ชนิดใด

“ผลการวิจัยที่พบว่ารหัสพันธุกรรมของค้างคาวมงกุฎมีความคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึง 91.5% นั้น แต่ไม่ติด่อระหว่างค้างคาวสู่คน ทั้งนี้กรมขอแนะนำว่า ประชาชน ไม่ควรรับประทานสัตว์ป่าโดยเฉพาะค้าวคาว และไม่ควรล่าสัตว์ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคยังได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน มีการเฝ้าระวังตลาดค้าสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง เช่น ตลาดจตุจักร ตลาดในเขตมีนบุรี และพุทธมณฑล เพื่อความปลอดภัยของประชาชน” นพ.เฉวตสรร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไทยมีการเฝ้าระวังโรคจากสัตว์สู่คน อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยมีการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนในไทย เช่น โรคซาร์ โรคเมอร์ส เป็นบทเรียนให้เราเฝ้าระวังเรื่องสัตว์ป่า ถ้ามีโรคใหม่ ๆ ระบาดจะมีสัญญาณบอกเหตุที่ผิดสังเกต เช่น ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ไทยก็ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ใด ๆ หรือพบผู้ป่วย ที่เป็นกลุ่มก้อนผิดสังเกตก่อนการระบาดในอู่ฮั่น เช่น อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม มากผิดปกติแบบไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นความมั่นใจของกรมควบคุมโรคว่า ไทยไม่ใช่แหล่งกำเนิดโรคโควิด-19