AAV ปี 64 ขาดทุน 4.7 พันล้าน พิษโควิด- ตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้9.4ล้านคน

AAV ปี 64 ขาดทุน 4.7 พันล้าน พิษโควิด- ตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้9.4ล้านคน

AAV ปี63 ขาดทุน 4.76 พันล้าน เพิ่มขึ้น 905%จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 473 ล้าน เหตุ รายได้ลดลง60% จากการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้ 9.4 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสาร 75% ตามฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่จะกลับไตรมาส4/64

นายไพรัชล์ พรพัฒนนางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)หรือAAV เปิดเผยว่า ปี 2563 บริษัทขาดทุน 4,764.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 905.10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 473.99 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทรายได้รวมทั้งสิ้น 16,237.3 ล้านบาท ลดลง 61%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 23,788.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 43จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมีผลขาดทุนในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นจากการป้องกันความเสี่ยงกระแสเงินสดจำนวน 170.0 ล้านบาท รวมถึงผลขาดทุนจากการประมาณการภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานสุทธิภาษีจำนวน 45.7 ล้านบาท ส่งผลให้มีขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 4,882.8 ล้านบาท จากขาดทุน
เบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดจำนวน 438.0 ล้านบาท ในปี 2562

ทั้งนี้ในไตรมาส 4 ปี 2563 AAV มีรายได้รวมทั้งสิ้น 4,158.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 60จากไตรมาส 4 ปี 2562 ที่เท่ากับ10,329.3 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 5,423.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไตรมาส 4 ปี 2563 ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีขาดทุนสุทธิจำนวน 1,114.4 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิจำนวน 72.1 ล้านบาท
ในช่วงเดียวกันของปีก่อน


สำหรับปี 2564 บจ. ไทยแอร์เอเชีย ได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางและท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นเป็นผู้นำและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารที่ 9.4 ล้านคน ด้วยอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ร้อยละ 75 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 ของปี2564 เช่นเดียวกับทิศทางอุตสาหกรรม รวมถึงขยายโอกาส ธุรกิจด้านโลจิสติกส์เพิ่มเติมในส่วนของการขนส่งสินค้าทาง อากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนการขนส่งวัคซีนทางอากาศใน ประเทศและภูมิภาค อีกทั้ง บจ. ไทยแอร์เอเชีย ได้มีการบริหาร ต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดต้นทุนและเลื่อนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป



ในปี 2564 บจ. ไทยแอร์ เอเชีย ไม่มีแผนรับมอบเครื่องบิน อีกทั้งมีแผนคืนเครื่องบินที่หมดอายุตามสัญญาเช่าและหมุนเวียนเครื่องบินภายในกลุ่มแอร์เอเชีย ส่งผลให้ ณ สิ้นปี มีฝูงบินจำนวน 54 ลำ การปรับลดขนาดฝูงบินเป็นไปตามคาดการณ์การท่องเที่ยวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักระยะเพื่อให้สภาวะการท่องเที่ยวโดยรวมกลับมาปกติ


นอกจากนี้ บจ. ไทยแอร์เอเชีย มุ่งเน้นในการเพิ่มประสบการณ์การบินใหม่ๆ และมาตรการลดการสัมผัส รวมถึงเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผ่านทางระบบจดจำใบหน้าในอนาคต