จับตาศก.'ไต้หวัน'โตเร็วสุด-'เกาหลีใต้'เจอวิกฤติแรงงาน

จับตาศก.'ไต้หวัน'โตเร็วสุด-'เกาหลีใต้'เจอวิกฤติแรงงาน

จับตาศก.“ไต้หวัน”โตเร็วสุด-เกาหลีใต้เจอวิกฤติแรงงาน โดยความต้องการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากมีสัดส่วนกว่าครึ่งของยอดส่งออกโดยรวมของไต้หวัน

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชียแต่มีบางประเทศอย่างไต้หวันที่ถือเป็นดาวเด่นทางเศรษฐกิจในปี2563 โดยสำนักงานสถิติไต้หวันคาดการณ์ว่าในปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของประเทศนี้ จะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง 4.6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าขยายตัวในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ส่วนในปี2563 เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัว 3.11% แซงหน้าจีนที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตรา 2.3% เป็นครั้งแรกในรอบ30ปี

“แกรี อึ้ง” นักเศรษฐศาสตร์จากนาทิซิส กล่าวว่า เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวอย่างมากอานิสงส์จากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับความสำเร็จของไต้หวันในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ขณะนี้ความต้องการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีมีสัดส่วนกว่าครึ่งของยอดส่งออกโดยรวมของไต้หวัน”อึ้ง กล่าว

ในส่วนของรัฐบาลไต้หวัน ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปี2564 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจของประเทศอาจจะขยายตัวในอัตราเร็วที่สุดในรอบ7ปีเพราะผลพวงจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้ยอดส่งออกสินค้าประเภทนี้ในไต้หวันเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเกม คอนโซล รถยนต์และธุรกิจอื่นๆที่ต้องใช้ชิป ขณะที่ความต้องการชิปทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพราะมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆที่ทำให้ประชาชนเลี่ยงเดินทางออกจากบ้าน และทำงานที่บ้านแทนที่ทำงานจึงมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ อาทิ แล็ปท็อป ซึ่งสำนักงานสถิติไต้หวัน คาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าของไต้หวันจะขยายตัวเกือบ2เท่าเป็น 9.58% ในปีนี้

อึ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากยอดส่งออกของไต้หวันจะเพิ่มขึ้นแล้ว ความต้องการภายในประเทศของไต้หวันก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะจำกัดการบริโภคแต่การควบคุมการระบาดของโรคได้ในเวลาอันรวดเร็วก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่บริษัทต่างๆและทำให้บริษัทเหล่านี้ลงทุนเพิ่มขึ้น

ในส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไต้หวัน ซึ่งมีประชากรกว่า 23 ล้านคน รายงานผู้ติดเชื้อ 942 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพียง9ราย นับจนถึงวันอาทิตย์(21ก.พ.)

“ถ้าเรานำตัวแปรทั้งหมดมารวมกัน จะเห็นว่าข้อมูลเหล่านี้สนับสนุนให้ไต้หวันเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในปี2563และผมคาดการณ์ว่าเราจะยังคงเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งของไต้หวันในปีนี้แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน อาจจะไม่แซงหน้าจีนอีก” อึ้ง กล่าว

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ระบุเมื่อเดือนที่แล้วว่า เศรษฐกิจจีนจะทะยานถึง 8.1% ในปีนี้จาก2.3% เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าเติบโตแซงหน้าประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐ

ขณะที่ไต้หวันเป็น“ผู้ชนะ”ในเกมการต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 เกาหลีใต้ กลับเป็น“ผู้แพ้”และทำให้ต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตด้านแรงงานรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ปี 2540 โดยอัตราว่างงานในเกาหลีใต้เฉพาะเดือนม.ค.เดือนเดียวเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน

ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อวันจันทร์(22ก.พ.)ว่าเกาหลีใต้กำลังเผชิญวิกฤตแรงงานเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงิน พร้อมทั้งให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะทำทุกวิถีทาง ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการต่างๆเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ความพยายามต่างๆของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่จะสร้างงานก็มีข้อจำกัด

อย่างไรก็ตาม ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานเกาหลีใต้เริ่มตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะผลพวงการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของค่าแรงขั้นต่ำและกฏระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของการทำงานล่วงเวลา ที่ทำให้บริษัททั้งขนาดเล็กและใหญ่พร้อมใจกันลดการจ้างงานใหม่ เมื่อโควิด-19 ระบาดก็ยิ่งซ้ำเติมภาวะตึงตัวให้รุนแรงมากขึ้น ธุรกิจภาคบริการทั้งร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกายและแหล่งบันเทิงทั้งหลายพากันปิดตัวเพราะมาตรการคุมเข้มต่างๆ ขณะที่ความต้องการแรงงานพาร์ท-ไทม์ก็หดตัว ผู้คนจำนวนมากพยายามดิ้นรนหางานทำ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของไต้หวันเผยแพร่รายงานแนวโน้มการจ้างงานในเดือนม.ค.เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่สะท้อนภาพรวมอันเลวร้ายของตลาดแรงงานได้ชัดเจน โดยเดือนม.ค.ตัวเลขจ้างงานไต้หวันร่วงลงประมาณ 980,000 ตำแหน่ง อยู่ที่ 25.82 ล้านตำแหน่ง ถือเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 และแรงงานกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือแรงงานหนุ่มสาว โดยในเดือนม.ค.แรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-29ปี สูญเสียตำแหน่งงาน 310,000 ตำแหน่ง

แต่การจ้างงานในกลุ่มแรงงานสูงอายุก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน โดยจำนวนผู้ถูกว่าจ้างที่มีอายุ 60ปีและ 60ปีขึ้นไป ลดลงประมาณ 15,000คนเทียบกับเดือนธ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 250,000คน และนับตั้งแต่มูน ขึ้นมาบริหารประเทศในปี 2560 จำนวนประชาชนอายุกว่า 60 ปีที่มีงานทำเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานแรงงานหนุ่มสาวกลับปรับตัวลดลง

“สถานการณ์การจ้างงานแรงงานหนุ่มสาวในขณะนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุด และจะนำไปสู่การมีรายได้ของแรงงานที่ไม่เท่าเทียมกัน รัฐบาลตระหนักถึงปัญหานี้อย่างดีและกำลังออกมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาปัญหานี้”ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าว