'BCG' สำคัญอย่างไร ทำไมประกาศเป็น 'วาระแห่งชาติ'?

'BCG' สำคัญอย่างไร ทำไมประกาศเป็น 'วาระแห่งชาติ'?

เปิดบทวิเคราะห์ "BCG" คืออะไร มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ทำไมรัฐถึงหวังว่า BCG จะสร้างรายได้ให้ประเทศ และกระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มคนจำนวนมาก และเพราะเหตุใดรัฐบาลถึงประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ?

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในรูปแบบเดิม มีข้อสังเกตด้านปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประเทศไทยเน้นการพัฒนาโดยใช้ข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรและแรงงานราคาถูก เพื่อผลิตสินค้าที่มีราคาไม่แพง แต่การพัฒนาในภาพรวมยังต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งการกระจายรายได้ กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีฐานะ มีศักยภาพในการผลิตสูง เห็นได้จากกลุ่มผู้ส่งออกที่ยังเป็นบริษัทรายใหญ่ หรือบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ 

ประเทศไทยจึงต้องพิจารณาในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่ต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 8,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หากต้องการขยับขึ้นข้ามเส้นแบ่งของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขึ้นสู่ประเทศรายได้สูง จะต้องมีรายได้อยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี 

การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงต้องอาศัยการนำกลไกขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ รวมไปถึง BCG Economy Model ที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการสร้างรายได้ให้ประเทศ และกระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มคนจำนวนมาก

BCG Economy Model แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก

B - Bio Economy เป็นการสร้างการเติบโตโดยอาศัยฐานทรัพยากรของชาติด้านชีวภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ครอบคลุมไปถึงการใช้วัฒนธรรมเป็นฐาน หรือวัฒนธรรมสร้างชีวิต

C - Circular Economy เป็นความพยายามในการยืดอายุการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้ยาวนานที่สุด ซึ่งทำได้หลากหลายวิธี เช่น การรีไซเคิล, หรือการ sharing ใช้ยานพาหนะ ใช้รถยนต์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

G - Green Economy เป็นการพัฒนาที่ดูความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ กิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การผลิต หรือการบริการ ที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาจะมองเป็น 2 ส่วน คือยอดและฐานของพีระมิด ส่วนที่เป็น “ยอดพีระมิด” เป็นกลุ่มคนที่จะใช้ความรู้ เทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาด้านการผลิตอย่างเข้มข้น เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าประเภท functional food ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล เช่น ผู้ป่วยเบาหวานต้องเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง, นักกีฬาต้องการโปรตีน ทำให้สินค้าเหล่านี้สามารถขายได้ในราคาสูงขึ้น

ส่วน “ฐานพีระมิด” ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จะใช้เทคโนโลยีหรือความรู้ในระดับที่ไม่สูงนัก เกษตรกรสามารถจับต้องได้ แต่ต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เป็นฐานสนับสนุนการผลิต เช่น การปลูกมะม่วงที่ใช้ความรู้เรื่องธาตุอาหารในดิน ความชื้นหรือการทำแพ็คเกจห่อหุ้มผลมะม่วงเพื่อรักษาผิว ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

หากสามารถดำเนินการตามแนวทางของ BCG Economy Model ได้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงาน สุขภาพ ความยั่งยืนในทรัพยากรธรรมชาติ

เมื่อมองในภาพใหญ่ของประเทศ BCG เป็นส่วนแบ่งของจีดีพีประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท หากดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ คาดว่าภายใน 5 ปีจะสามารถเพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มปีละ 2 แสนล้านบาท และเพิ่มอัตราการจ้างงานจาก 16.5 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน นำไปสู่การกระจายรายได้สู่กลุ่มคนฐานะปานกลางไปจนถึงฐานะยากจน และนำไปสู่การสร้างความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว