BTS ฟ้องอาญาล้มสายสีส้ม 'ศักดิ์สยาม-รฟม.'ยืนยันยกเลิกประมูลได้

BTS ฟ้องอาญาล้มสายสีส้ม 'ศักดิ์สยาม-รฟม.'ยืนยันยกเลิกประมูลได้

“บีทีเอส” ฟ้อง รฟม.ปมล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่งทนายยื่นตามกฎหมายอาญา ม.157 และ ม.165 พร้อมกฎหมาย ป.ป.ช. “ศักดิ์สยาม-ผู้ว่า รฟม.” ยืนยันมีเงื่อนไขล้มประมูลได้

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้ยื่นฟ้องผู้บริหาร รฟม.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับการยกเลิกประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 ในข้อหา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564

แหล่งข่าวจากบีทีเอสซี ระบุว่า สาเหตุที่บริษัทฯ ยื่นฟ้องในกรณีดังกล่าว เพราะการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก หลังเอกชนยื่นซองข้อเสนอแล้ว โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

รวมทั้งก่อนหน้านี้ BTSC ยังได้ยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลาง โดยศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าว น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม.ระงับการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แก้ไขไว้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวขอให้เป็นอำนาจของศาลในการพิจารณาและชี้แจงข้อมูล โดยบริษัทฯ ได้มอบหมายให้ทนายเป็นผู้เข้ายื่นเอกสาร หลังจากนี้คงต้องรอให้เป็นไปตามกระบวนการศาล

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การยกเลิกประมูลเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ข้อ 12.1 ที่บอกว่าสงวนสทธิ์ในการยกเลิกประมูล อีกทั้ง การยกเลิกประมูลก็ไม่ได้เป็นโครงการแรกที่กระทรวงฯ มีการดำเนินการ สามารถดำเนินการได้ 

“หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ รฟม.ในการรวบรวมหลักฐานไปชี้แจงต่อศาล โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ กำหนดฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี จะต้องเปิดให้บริการ ในปี 2567 และฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ เปิดในปี 2569”นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องการฟ้องร้องดังกล่าว แต่ยืนยันว่าการดำเนินการล้มประมูลเป็นอำนาจที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 ทำได้ เพราะเป็นข้อสงวนไว้ในทีโออาร์การประกวดราคาอยู่แล้ว ทั้งนี้ หลังจากที่มีการล้มประมูลคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา รฟม.ได้แจ้งยกเลิกและคืนหลักประกันผู้ยื่นซองข้อเสนอแล้ว

รวมทั้งได้ถอนฟ้องคดีที่อยู่ในชั้นศาลปกครองเรียบร้อยแล้ว กระบวนการหลังจากนี้ ภายในเดือน ก.พ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้สนใจเข้าร่วมประมูลเพื่อจัดทำข้อเสนอประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มอีกครั้ง และภายในเดือน มี.ค.2564 จะมีการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม