กูรูเศรษฐศาสตร์จี้รัฐลงทุนเพิ่ม หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวแกร่ง

กูรูเศรษฐศาสตร์จี้รัฐลงทุนเพิ่ม หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวแกร่ง

นักเศรษฐศาสตร์ส่องเศรษฐกิจไทยปีนี้แม้ฟื้นตัว แต่ยังไม่แกร่ง ธนาคารโลกชี้กว่าจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นใกล้ก่อนโควิด ต้องใช้เวลา 2 ปี แนะเร่งลงทุนเพิ่มเท่าตัวเป็น 36% ของจีดีพี 1.6 แสนล้านบาท

    นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวในงานสัมมนา VIRTUAL FORUM : REINVENTING THAILAND 2021 ในหัวข้อ A More Prosperous 2021 ที่จัดโดย Wealthy Thai ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นปีที่ท้าทาย ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวกว่า 2 ปี นับจากเกิดโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง

     อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนทางการเมือง สงครามการค้า ซึ่งเศรษฐกิจไทยถือว่าเข้าสู่ภาวะวิกฤติอยู่แล้วก่อนโควิด-19 ดังนั้นกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลา อีกทั้งแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ ก็เชื่อว่าจะฟื้นตัวไม่ทั่วถึง เพราะดูจากความยากจนพบว่ามีมากขึ้น

     โดยจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยยากจนเพิ่มถึง 1.5 ล้านคนในปี 2563 ที่ผ่านมา และอาจเข้าสู่ภาวะยากลำบากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามกว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตแบบสดใส คงต้องใช้เวลาถึง 4 ปี หรือกว่าจะเห็นเศรษฐกิจโตยั่งยืนได้ต้องใช้เวลา 4-5 ปี

     ดังนั้นจำเป็นที่ไทยต้องลงทุนเพิ่มอีกเท่าตัว จาก 17% เป็น 35-36% ของจีดีพีในอนาคต และต้องเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) อีกเท่าตัว ซึ่งวันนี้มีพื้นที่ทางการคลังค่อนข้างมากที่สามารถขยายการลงทุนได้ในระยะข้างหน้า ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ ธนาคารโลกอยู่ระหว่างการปรับประมาณการจีดีพีลง จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ขยายตัว 4% ซึ่งมาจากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่

จับตาวัคซีนหนุนเศรษฐกิจไทย

     นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า กว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ดีคงต้องรอถึงปี 2565 เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง

     ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตา และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ วัคซีนโควิด-19 ว่า จะมาเมื่อไหร่ และมาแล้ว จะสามารถเปิดประเทศ เปิดให้ต่างชาติเข้ามาได้หรือไม่ เพราะกว่าจะเปิดประเทศได้อย่างน้อยประชากรจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้นวัคซีนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการท่องเที่ยว ไม่ใช่เฉพาะไทยแต่สำคัญกับทั่วโลกด้วย

     อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตดีขึ้น หรือขยายตัวได้หากเทียบกับปีก่อนหน้า หรือกลับไปใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19 แต่ก็ยังไม่ใช่จุดที่พอใจ เพราะหากมองไปข้างหน้า สิ่งที่สำคัญ คือ ภาพเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้แค่ไหน แม้ปีนี้จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวระดับ 2-3% ปีหน้า 4-5%

    แต่หลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอัตราเท่าไหร่ โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ ดังนั้นจุดสำคัญที่จะเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีศักยภาพ คือต้องเร่งพัฒนาเร่งเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้เพิ่มขึ้น และสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตยั่งยืนการกระจายรายได้ กระจายการท่องเที่ยวให้มากกว่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

ตลาดหุ้น-บอนด์จ่อผันผวนแรง

    นายตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แม้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าจะสามารถกลับไปสู่เศรษฐกิจใกล้เคียงปี 2562 ได้แต่ยังมีความกังวล เพราะมีความแตกต่างด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก มีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นสูง และจะมีมากขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ สภาพคล่อง หรือปริมาณเงินที่อยู่ในระบบค่อนข้างมาก ส่งผลให้สินทรัพย์หลายตัวปรับตัวขึ้นแรง และสร้างความผันผวนให้กับตลาด ดังนั้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่ถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง

     โดยมองว่า ระยะข้างหน้าจะเห็นความผันผวนระหว่างตลาดหุ้น และตลาดบอนด์สูงขึ้น เพราะเงินไหลเข้าจากทั่วโลก และคนที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่ มีการเปลี่ยนรุ่น มาสู่เจนวายค่อนข้างมาก ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่เคยผ่านวิกฤติ และจะเห็นการลงทุนจะหวังผลระยะสั้นมากขึ้น จากเดิมที่มองการเป็นปี เป็นรายเดือน รายวันมากขึ้น เหล่านี้จะยิ่งเพิ่มความผันผวนสู่ตลาดมากขึ้น

     นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวในแง่ของภาคลงทุนว่า ภาพขณะนี้คือ Too good to be true ดีเกินไปที่จะเป็นจริง ทำให้มีเงินเข้ามามากหนุนสินทรัพย์ให้ปรับตัวขึ้นแรง

       ความผันผวนเหล่านี้จะมีอย่างต่อเนื่อง เพราะคาดว่าธนาคารกลางทั่วโลก ยังมีการอัดฉีดมาตรการเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณเงินในระบบยังอยู่ระดับสูง หนุนให้ตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวน ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยง แม้ธนาคารกลางไม่มีการถอนมาตรการ แต่หากนักลงทุนกังวล ก็อาจเกิดการเทขายสินทรัพย์ และกดผลตอบแทน กดภาพลงทุนให้ลดลงได้

แนะนำลงทุนตาม 3ธีมหลัก

     ด้านนายธณาพล อิทธินิธิภัค Vice President and Head of Thailand Business BLACKROCK กล่าวว่า ภายใต้ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังอยู่ การลงทุนหลักๆ แนะนำไปที่ 3ธีมหลัก ด้านแรก คือ The new nominal ภายใต้คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะต่ำยาวไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ดังนั้นหากไม่ทำอะไรเลย เน้นการลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนต่ำ

     ดังนั้น แนะนำลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เช่นไฮยิลด์บอนด์ ตราสารที่ปรับตัวตามเงินเฟ้อ หรือหุ้นที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ หรือการเข้าไปลงทุนใน ในหุ้นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แฮลแคร์ โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่เป็นแหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมเหล่านี้

     ธีมการลงทุนถัดมาคือ Globalization rewired Turbocharged transformations ภายใต้ที่เศรษฐกิจโลก ยังมีความขัดแย้ง เช่น สงครามการค้าสหรัฐ จีน ดังนั้นการลงทุนในระยะข้างหน้า ควรเน้นการลงทุนไปสู่ประเทศที่ยังเติบโตได้ เช่นจีน ที่สามารถควบคุมและฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ดี ที่มีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น รวมถึงประเทศเกิดใหม่บางประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี

     ธีมถัดมาคือ Turbocharged transformations ภายใต้โควิด-19 เทรนด์ที่เติบโตได้ดีคือ กลุ่มเทคโนโลยี ที่เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้การเข้าไปลงทุนใน ESG จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

     “กลุ่มที่เราแนะนำในการเข้าลงทุนมากที่สุดคือ เทคโนโลยี แฮลแคร์ ที่เติบโตได้มากกว่าค่าเฉลี่ย และอนาคต เมื่อมี 5 จีเข้ามากลุ่มเทคโนโลยีจะมีการยกระดับการเติบดตไปอีกขั้น นอกจากนี้เราแนะนำให้ลดน้ำหนักในการลงทุนบอนด์รัฐระยะยาว และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ ที่เกี่ยวกับเทคฯ แฮลแคร์ และเพิ่มสัดส่วนในการลงทุนในอิมาจิ้นมาเก็ต เพราะยิลด์สูง"

เร่งพีพีพี 4 โครงการ 1.6 แสนล.

     นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ PPP ที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ เป็นประธานวานนี้ (23ก.พ.) ว่า ในปี 2564 จะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 4 โครงการ มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท ที่จะลงทุนในรูปแบบของโครงการ PPP ได้แก่

    1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มูลค่า 124,791ล้านบาท

    2.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่า 1,606 ล้านบาท

    3.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า 1,454 ล้านบาท

    และ 4.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มูลค่า 35,201 ล้านบาท

     นอกจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว คณะกรรมการ PPP ยังเห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนรัฐ - เอกชน ปี2563-2570ที่เดิมมีโครงการอยู่ในท่อ 92 โครงการมูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท โดยปรับปรุงแล้วลดลงเหลือ 77 โครงการจาก 9 กระทรวง มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

     เนื่องจากบางโครงการอาจไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP และบางโครงการเปลี่ยนมาใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแทน ในจำนวนนี้เป็นโครงการร่วมลงทุนในกลุ่มที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนจำนวน 20 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 503,153 ล้านบาท