CPF ชูภารกิจสู้โควิด สร้างความมั่นคงอาหาร

CPF ชูภารกิจสู้โควิด สร้างความมั่นคงอาหาร

CPF ชูภารกิจสู้วิกฤติโควิด-19 ระบุสร้างความมั่นคงอาหารให้คนไทย เตรียทมความพร้อมระบบซัพพลายเชน โลจิสติกส์

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 111.7 ล้านคน เสียชีวิต 2.47 ล้านคน ในขณะที่ผู้ติดเชื้อในไทยถึงวันที่ 22 ก.พ.2564 อยู่ที่ 25,415 คน ถึงแม้จะนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันจะลดลงมาหลักสิบ แต่การป้องกันการระบาดยังคงต้องเข้มงวดต่อเนื่อง

ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา สร้างปรากฎการณ์ “ความปกติใหม่” ให้กับทุกแวดวง โดยเฉพาะด้านสุขภาพรวมถึงทำให้เกิดความตื่นตัวในภาคอุตสาหกรรมอาหารไทย และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันใส่ใจสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับอาหารที่ไม่ใช่เพียง "ความปลอดภัยของอาหาร" แต่โควิด-19 ทำให้มองถึง “ความมั่นคงทางอาหาร”มากขึ้นจนกลายเป็นหัวใจสำคัญของผู้ผลิตอาหารทั่วโลก

รวมถึง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)​ หรือ CPF ผู้ผลิตอาหารที่มีฐานการผลิตทั่วโลก ซึ่งได้บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย ตลอดจนเชื่อมโยงความมั่นคงทางอาหารให้ผู้บริโภคทั้งในไทยและประเทศอื่นที่ลงทุนอยู่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดภาวะขาดแคลน

บททดสอบช่วงโควิด-19 ทำให้ซีพีเอฟยกระดับคุมเข้มความปลอดภัยขั้นสูงสุดในการดำเนินงานทุกขั้นตอน สอดคล้องนโยบายของภาครัฐ และนโยบายของบริษัทแม่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า การจะผลิตอาหารปลอดภัยได้ราบรื่นไม่สะดุด และทำให้ความมั่นคงทางอาหารแก่ประเทศได้ คนงานในโรงงานผลิตอาหารทั้งหมดต้องปลอดภัยก่อน จึงเป็นที่มาของการยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุดของพนักงานในไลน์การผลิตทั้งหมดของบริษัท 

ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันการแพร่เชื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศูนย์โควิด-19 และมอบหมายให้ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจสัตว์บก เป็นประธาน ซึ่งได้วางมาตรการการทำงานด้านป้องกันโรคระบาดใน 7 หมวดหมู่ ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านมาตรการป้องกัน ด้านการจัดซื้อ ด้านการสื่อสารพนักงาน ด้านการสื่อสารสาธารณะ ด้านประสานงานภาครัฐ และด้านการเยียวยา โดยมีมาตรการสำคัญเพื่อบริหารจัดการธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องครอบคลุม 3 ประเด็น คือ 

1.ความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่บริษัทต้องสามารถเดินสายพานการผลิตอาหารโดยไม่สะดุด เพื่อป้องกันอาหารขาดแคลน 

2.ระบบซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ ที่มีการประสานความร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการจราจรหากเกิดการล็อคดาวน์ โดยการขนส่งจะต้องสามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งการขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงานผลิตอาหาร และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค 

3.มาตรการป้องกันโรค ในแต่ละขั้นตอน มีการออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติตัวของพนักงานทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อต่างๆ รวมถึงการสั่งการพนักงานบางส่วนให้ Work From Home และกำหนดให้พนักงานที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงให้กักตัวเอง 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา เป็นต้น

“เทคโนโลยี” เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความปลอดภัยอาหาร โดยกระบวนการผลิตของซีพีเอฟ ตั้งแต่ต้นทางอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานชำแหละ และโรงงานแปรรูปอาหาร มีการดำเนินงานในลักษณะระบบอัตโนมัติ ทั้งแบบสายพานต่อเนื่อง และการใช้หุ่นยนต์ รวมถึงเทคโนโลยีทันสมัยในกระบวนการผลิต ซึ่งลดการสัมผัสมือคนได้อย่างมากเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิตอาหารปลอดภัยในยุคโควิด-19 ที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง

161399959713

สำหรับอาหารปลอดภัยต้องมีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการบริโภค รวมถึงต้องมีจุดจำหน่ายที่ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่ายจึงจะก่อเกิดเป็น“ความมั่นคงทางอาหาร” ของประเทศ ความรอบคอบในการเตรียมการด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ที่ซีพีเอฟวางระบบการจัดการไว้อย่างดีจึงตอบโจทย์เรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน หลักปรัชญา 3 ประโยชน์ที่ซีพีเอฟยึดถือปฏิบัติ ยังสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน ช่วยหนุนสังคมให้ทุกคนเข้าถึงอาหารปลอดภัยอย่างเท่าเทียมแล้ว ยังร่วมดูแลบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการเฝ้าระวังและป้องกันคนไทย 

โดยช่วยแบ่งเบาภาระด้านอาหารจากสถานการณ์โควิดในรอบ 2 ด้วยโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19" ส่งอาหารพร้อมทาน 129,000 แพ็ค ให้แพทย์-พยาบาลในโรงพยาบาล 15 แห่ง ใน 6 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและผู้ที่กักตัวโรงพยาบาลสนาม “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร”​ ทั้ง 9 แห่งใน จ.สมุทรสาคร รวมทั้งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) 

รวมถึงการร่วมมือกับเครือซีพีมอบอาหารและหน้ากากอนามัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่กลุ่มเปราะบางและแรงงานต่างชาติ ผ่าน ศบค.กรุงเทพมหานคร สถานเอกอัครราชทูตเมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม และจนถึงปัจจุบันซีพีเอฟทำหน้าที่ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคได้ต่อเนื่อง ทั้งยังแบ่งปันมาตรการและเทคนิคบริหารจัดการสถานการณ์ดังกล่าวไปยังบริษัทคู่ค้า เกษตรกรและผู้สนใจ เพื่อให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของไทยที่จะร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และก้าวเป็น “ครัวของโลก”​ ได้มั่นคงและยั่งยืนไปด้วยกัน