จาก 'น้ำพุโซดา' เปิด 10 ขั้นตอน กว่าจะมาเป็นน้ำบาดาลเพื่อประชาชน

จุดขาย "น้ำพุโซดา" ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) เผย 10 ขั้นตอนกว่าจะมาเป็นน้ำบาดาลเพื่อประชาช พร้อมวอน แม่ค้า-นักท่องเที่ยว เล็งเห็นความสำคัญเรื่องความสะอาด-อุบัติเหตุ

จากกรณี น้ำพุโซดา ความคืบหน้ากรณีนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบหมายให้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำโดย นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) ลงสำรวจพื้นที่เจาะบาดาลเพื่อแหล่งน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี และสามารถเจาะบาดาลในพื้นที่หมู่ 12 บ้านสระตาโล ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย ได้ จำนวน 3 บ่อ บ่อแรกลึก 280 เมตา บ้อที่สองลึก 224 เมตร และบ่อที่สามลึก 303 เมตร ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ จำนวน 52 ลบ.ม./ชม. และที่หมู่ 19 บ้านทุ่งคูณ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจาอีก จำนวน 2 บ่อ ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 66 ลบ.ม./ชม.คิดปริมาตรรวม 1,700,000 กว่า ลบ.ม./ปี ประชากรจะได้รับประโยชน์ จำนวน15 หมู่บ้าน 7,000 กว่าครัวเรือน พื้นที่เกษตร 6,000 ไร่ แต่ปรากฏว่าบ่อบาดาลที่ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ 12 บ้านสระตาโล ต.บ่อพลอย กลับมีรสชาติหวานและซ่าคล้ายโซดา ที่สร้างความฮือฮาให้กับคนไทยทั้งประเทศตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้ว

ล่าสุด วันนี้ (22 ก.พ.64) นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) เปิดเผยถึงขั้นตอนขุดเจาะบาดาลเพื่อแหล่งน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยมี 10 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง วิเคราะห์ข้อมูล การรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่แล้วในฐานข้อมูล พร้อมทำการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อให้รู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่ สภาพภูมิประเทศ เส้นทางคมนาคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนสำรวจ การจัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และยานพาหนะ ข้อมูลน้ำบาดาลที่มีอยู่

ทำให้ทราบว่าในพื้นที่นั้นมีบริเวณใดบ้างที่มีศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลที่ดี มีปัญหาอุปสรรคใดบ้าง เช่น เป็นหินแข็งที่ไม่ค่อยมีรอยแตก ความยาก-ง่ายในการเจาะหาชั้นน้ำบาดาล ปริมาณน้ำที่คาดว่าจะนำมาใช้ได้ ความลึกของระดับน้ำ ตลอดจนคุณภาพน้ำ แผนที่ธรณีวิทยา ทำให้ทราบว่าพื้นที่เป็นหินชนิดใด มีโครงสร้างทางธรณีอย่างไร เพราะหินแต่ละชนิดมีความพรุนและความสามารถในการกักเก็บน้ำบาดาลได้มากน้อยต่างกัน รวมทั้งมีคุณสมบัติในการไหลผ่านของน้ำบาตาลต่างกัน แผนที่แหล่งน้ำบาดาล หรือแผนที่อุทกธรณีวิทยา ทำให้ทราบถึงศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลอย่างคร่าว ๆ ว่าเป็นอย่างไร ทั้งชนิดของชั้นน้ำบาดาล เช่น เป็นชั้นกรวด ทราย หรือชั้นน้ำบาดาลในแข็งที่มีรอยแตก ความลึกของชั้นน้ำบาดาล ปริมาณน้ำที่คาดว่าจะสูบขึ้นมาใช้ได้ ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม ใช้ประกอบรวมกับแผนที่ธรณีวิทยาและแผนที่อุทกธรณีวิทยา เพื่อใช้วิเคราะห์โครงสร้างที่เหมาะสม สำหรับการเกิดแหล่งน้ำบาดาล เช่น รอยเลื่อนและระบบรอยแตกของหิน

ขั้นตอนที่สอง สำรวจภาคสนามการสำรวจเส้นทางคมนาคมและพื้นที่ที่จะทำการพัฒนา ได้แก่ สภาพหมู่บ้าน ประชากร ฯลฯ การสำรวจด้านธรณีวิทยา เพื่อให้ทราบชนิดและลักษณะของหิน ทั้งนี้ เพราะหินต่างชนิดจะมีเนื้อหิน ความพรุนที่ต่างกัน ตลอดจนลักษณะของรอยแตก หรือรอยเลื่อน ฯลฯ การสำรวจด้านอุทกธรณีวิทยา (สภาพแหล่งน้ำบาดาล) ได้แก่ การสำรวจข้อมูลบ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบาดาล รวมทั้งแอ่งน้ำธรรมชาติ เช่น หนอง บึง สระ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ฝาย เขื่อน เป็นต้น เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของน้ำผิวดินและน้ำบาดาลในบริเวณนั้น

การสำรวจด้านธรณีฟิสิกส์ เช่น การสำรวจวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า การสำรวจด้วยคลื่นไหวสะเทือน การวัดค่าสนามแม่เหล็ก แต่วิธีที่นิยมใช้กันเพราะให้ผลแม่นยำสูงคือ การสำรวจวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า ซึ่งผลการสำรวจโดยวิธีนี้สามารถนำมาคำนวณเพื่อประเมินลักษณะของชั้นน้ำบาดาลว่าเป็นชั้นน้ำบาดาลในชั้นกรวดทราย หรือในหินชั้นรอยแตก หรือเป็นโพรงในชั้นหิน ตลอดจนสามารถคำนวณความลึก ความหนา ของชั้นน้ำบาดาล และคุณภาพน้ำได้ว่าเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม

ขั้นตอนที่สาม คัดเลือกสถานที่ เมื่อผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลและแปลความหมายแล้วจะสามารถบอกถึงผลการสำรวจได้ คือ ชนิดของชั้นน้ำบาดาล เช่น เป็นชั้นกรวดทราย หรือเป็นหินแข็งที่มีรอยแตก ความลึกของชั้นน้ำบาดาล คุณภาพน้ำ กำหนดประเภทของเครื่องจักรเจาะบ่อที่เหมาะสมกับชั้นน้ำบาดาลได้ ดังนั้น จึงสามารถสรุปผลการสำรวจเพื่อกำหนดสถานที่จุดเจาะที่เหมาะสมได้ ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะใช้

ขั้นตอนที่สี่ เจาะบ่อน้ำบาดาล วิเคราะห์ชั้นดิน / หิน จากข้อมูลในขั้นตอนข้างต้นจะทำให้สามารถคัดเลือกเครื่องจักรเจาะบ่อ ที่เหมาะสมกับชนิดหิน และความลึกของชั้นน้ำบาดาล นอกจากนั้นแล้วต้องเลือกช่างเจาะที่มีความชำนาญสูง เพื่อให้ได้ผลการเจาะที่สมบูรณ์และไม่เกิดการผิดพลาด เช่น เกิดปัญหาก้านเจาะขาด หัวเจาะตกลงไปในบ่อ ฯลฯ ในระหว่างการเจาะจะต้องมีการเก็บตัวอย่างดินและหินที่ได้จากการเจาะเพื่อนำไปใช้ในการอ้างอิง และนำไปสู่การวิเคราะห์ชั้นน้ำบาดาลเพื่อให้ทราบว่าจะมีน้ำบาดาลหรือไม่

สำหรับในบางพื้นที่ เช่น ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ในภาคใต้ที่ติดกับชายทะเล มักจะมีปัญหาในการเจาะพบน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบชั้นน้ำบาดาลในหลุมเจาะด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องหยั่งธรณี (Electrical Logger) ทำให้สามารถระบุความลึกของชั้นน้ำบาดาลได้ละเอียดและแม่นยำ สามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำว่าเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็มได้ ทำให้การก่อสร้างบ่อไม่เกิดความผิดพลาด

ขั้นตอนที่ห้า ออกแบบและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาล จากผลการวิเคราะห์ชั้นน้ำบาดาลทำให้สามารถนำมาออกแบบบ่อน้ำบาดาล และก่อสร้างบ่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนป้องกันความผิดพลาดในการระบุชั้นน้ำบาดาลที่ต้องการนำมาใช้ เช่น ช่วงความลึกของท่อกรอง ท่อเซาะร่อง จะต้องวางให้ตรงกับชั้นน้ำบาดาลที่คัดเลือกจากการวิเคราะห์ จากนั้นจึงใส่กรวดกรุข้างบ่อ ซึ่งเป็นกรวดที่มีขนาดเหมาะสมลงรอบ ๆ ท่อกรอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลของน้ำบาดาลเข้าบ่อ และบริเวณเหนือชั้นกรวด ซึ่งเป็นท่อกรุบ่อนั้นต้องอุดข้างบ่อด้วยดินเหนียวสะอาดหรือฉีดด้วยซีเมนต์รอบ ๆ ข้างบ่อจนถึงบนผิวดิน เพื่อป้องกันน้ำเสียไหลซึมเข้าบ่อ

ขั้นตอนที่หก พัฒนาบ่อน้ำบาดาล ในขณะที่เจาะบ่อนั้นมักจะมีน้ำโคลน คราบน้ำมัน ฯลฯ แทรกตัวเข้าไปในชั้นน้ำบาดาล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดบ่อบริเวณที่เป็นชั้นน้ำบาดาล ซึ่งมีหลายวิธีแต่วิธีที่นิยมกันมากเพราะมีความสะดวกในการทำงานคือการใช้เครื่องอัดลมที่มีกำลังสูงเป่าล้างบ่อ เพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจาะ เช่น น้ำโคลน เศษดิน เศษหิน ตลอดจนเม็ดดินเม็ดทรายละเอียดออกจากบ่อ เป็นต้น ทำให้กรวดกรุบ่อซึ่งอยู่รอบ ๆ ท่อกรอง หรือท่อเซาะกรองมีการเรียงตัวที่ดี และทำให้น้ำไหลเข้าบ่อได้สะดวกขึ้น

ขั้นตอนที่เจ็ด สูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล เป็นการสูบน้ำออกจากบ่อน้ำบาดาลด้วยอัตราที่กำหนด พร้อมทั้งวัดระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลง และจะใช้เวลาสูบต่อเนื่องกันไป ประมาณ 6-72 ชั่วโมง เพื่อประเมินคุณลักษณะของบ่อน้ำบาดาล ว่าสามารถสูบได้ในปริมาณเท่าใด มีระดับน้ำปกติและระดับน้ำลดเท่าใด และยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปคำนวณหาคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของบ่อ และชั้นน้ำบาดาล ในขั้นตอนนี้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการคัดเลือกชนิดและขนาดแรงม้าของเครื่องสูบน้ำ การคำนวณระดับความลึกที่เหมาะสมในการติดตั้งท่อดูดน้ำ ตลอดจนสามารถกำหนดอัตราการสูบที่เหมาะสมกับบ่อได้ ทำให้เป็นมาตรการที่ดีในการบริหารจัดการการพัฒนาแหล่งน้ำในเชิงอนุรักษ์ และมีการกำหนดอัตราการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

ขั้นตอนที่แปด วิเคราะห์คุณภาพน้ำ ตามปกติแล้วการจะนำน้ำบาดาลมาใช้อุปโภคและบริโภคต้องมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลก่อน ได้แก่ วิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย ตลอดจนสารพิษ ว่าคุณภาพน้ำที่ได้นั้นเป็นอย่างไร หากมีคุณภาพไม่เหมาะสมก็ต้องติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำไปใช้ ซึ่งสารส่วนเกินที่พบบ่อย คือ สารสะลายเหล็ก แมงกานีส และฟลูออไรด์ เพราะถ้านำมาดื่มกินแล้วตรวจพบว่ามีสารบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ฟลูออโรด์ หรือสารหนู ก็จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยในภายหลังได้ ดังนั้น การส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ก่อนใช้จะทำให้เกิดความมั่นใจ ถือว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่า

ขั้นตอนที่เก้า ปรับปรุงคุณภาพน้ำและออกแบบระบบจ่ายน้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล คือ วิธีการทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น โดยลดหรือกำจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เช่น สารแขวนลอย ตะกอนต่าง ๆ เหล็ก ความกระด้าง ฟลูออไรด์ ความเค็ม ไนเทรต สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การต้ม การกรอง การเติมสารเคมี การเติมอากาศ การแลกเปลี่ยนไอออน และวิธีการออสโมซิสย้อนกลับ (RO) และหากต้องการทำเป็นระบบประปาบาดาล จะต้องนำข้อมูลในขั้นตอนต่าง ๆ ข้างต้นมาคำนวณและออกแบบระบบที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงก่อสร้าง ได้แก่ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การก่อสร้างอาคารสถานีสูบน้ำ หอถังสูง ติดตั้งระบบกรองน้ำ การก่อสร้างระบบจ่ายน้ำ และระบบท่อจ่ายน้ำ

ขั้นตอนที่สิบ นำไปใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้โดยผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทางวิชาการน้ำบาดาลหลายขั้นตอนอย่างเป็นระบบ จะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของบ่อน้ำบาดาล ทั้งปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำ และวัตถุประสงค์ของการใช้ ได้แก่ การนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อเกษตรกรรม หรือเพื่ออุตสาหกรรม

นายทะนงศักดิ์ กล่าต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการขุดเจาะบาดาลในพื้นที่หมู่ 19 ต.ห้วยกระเจา เพิ่มอีกประมาณ 3 บ่อ ซึ่งขั้นตอนก็จะเป็นแบบเดียวกันเหมือนที่ผ่านมา ในระหว่างนี้อยู่ระหว่างการเจาะเพื่อสำรวจ ซึ่งจุดที่กำลังเจาะสำรวจนั้นเบื้องต้นเป็นรอยแยกร่องน้ำเดียวกันกับพุโซดา แต่ผลที่ออกมาเรายังไม่ทราบว่าจะเป็นในลักษณะเดียวกันกับพุโซดาหรือไม่

สำหรับชุดกรองน้ำนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สั่งการให้นำมาติดตั้งเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมพุโซดา ได้ทดลองดื่มกินไปในตัว คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าก็คงจะแล้วเสร็จ ซึ่งทุกวันนี้พบว่ามีประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาจากกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาเยี่ยมชนพุโซดาเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม่แต่วันราชการ ขณะเดียวกันนั้นมีร้านค้าเพิ่มขึ้นทุกวัน

ดังนั้นสิ่งที่เรากังวลมากที่สุดในขณะนี้คือปัญหาเรื่องของความสะอาด และอุบัติเหตุ เนื่องจากร้านค้าได้ตั้งแผงขายของรวมทั้งรถยนต์ได้จอดเอาไว้ทั้งสองฟากฝั่งถนน จึงขอฝากไปถึงแม่ค้ารวมทั้งนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาขยะที่อาจจะเดขึ้นรวมทั้งเรื่องของอุบัติเหตุด้วย