“ททท.” ชงรัฐตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัววงเงิน 3 หมื่นล้าน กู้ชีพธุรกิจท่องเที่ยวไทย

“ททท.” ชงรัฐตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัววงเงิน 3 หมื่นล้าน กู้ชีพธุรกิจท่องเที่ยวไทย

“ททท.” ชงรัฐตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัว วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เร่งกู้ชีพผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวไทย หวังช่วยเสริมสภาพคล่อง-เพิ่มขีดความสามารถ-ลุยทรานส์ฟอร์มรับสมดุลใหม่หลังโควิด-19 พลิกโฉมการแข่งขันท่องเที่ยวโลก

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัว จุดประสงค์คือช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยในการปรับตัว (ทรานส์ฟอร์ม) ให้เข้ากับสมดุลใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้งภายในครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจาก ททท.ไม่ต้องการปล่อยให้ผู้ประกอบการและแรงงานในซัพพลายเชนท่องเที่ยวอยู่ตามยถากรรมหรือล้มหายตายจากไป

ส่วนวงเงินจัดตั้งกองทุนใหม่ดังกล่าว เบื้องต้นจะเสนอไปที่ 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวไทยที่เคยทำได้สูงสุดถึง 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 โดย ททท.จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ช่วยผลักดันเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ.พิจารณาต่อไป

“หน้าที่ของกองทุนเพื่อการปรับตัว ไม่ได้มีแค่เรื่องการช่วยเสริมสภาพคล่องซึ่งเปรียบเหมือนห่วงยางช่วยชีวิตผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้อยู่รอดจากวิกฤติโควิด-19 เท่านั้น แต่จะมุ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนเพื่อนำไปสู่บริการใหม่ๆ สอดรับความต้องการท่องเที่ยวในอนาคตด้วย เนื่องจากต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจครอบครัว ที่หลายรายไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงิน แต่ต้องการเงินจากกองทุนนี้มาช่วยพยุงให้ธุรกิจอยู่รอด และสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง”

โดย ททท.จะเปิดสำรวจความต้องการเงินกู้ด้วยการให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับความเดือดร้อนมาลงทะเบียนออนไลน์เร็วๆ นี้ เพื่อนำไปประกอบเป็นข้อมูลสนับสนุนในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัว ว่ามีจำนวนผู้ประกอบการที่ต้องการเงินกู้เท่าไร สำหรับการจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือ

หลังจากก่อนหน้านี้ ททท.ได้สอบถามไปยัง 2-3 กองทุนที่มีความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวแล้ว เช่น กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่หลังจากได้หารือกับทางบีโอไอแล้ว พบว่าอาจเป็นเรื่องยาก เพราะกองทุนนี้มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ส่วนกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยังต้องดูเพิ่มเติมว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจได้อย่างไรบ้าง

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ททท.จะมุ่งสร้าง “Safe ARRIVAL” หรือท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและแข็งแกร่ง ครอบคลุมเรื่อง Adaptive Resilience ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีความยืดหยุ่นที่ปรับได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดวิกฤติแบบนี้อีกเมื่อไร จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้แข็งแกร่ง พร้อมรับมือทุกวิกฤติ, Responsible สร้างการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบให้เป็นกลไกสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ

ตามด้วย Inclusive กระจายการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สร้างสมดุลใหม่ ลดการกระจุกตัวทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา, Values-based ผลักดันรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง, Amazing สร้างความมหัศจรรย์บทใหม่ ให้ภาคท่องเที่ยวไทยเป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่อง และ Less for more ไม่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยว มุ่งเพิ่มการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ ด้วยการเจาะเซ็กเมนต์ที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง