Specialty Robusta ฝันให้ไกล...ไปให้ถึง

Specialty Robusta ฝันให้ไกล...ไปให้ถึง

ส่องเส้นทาง “กาแฟโรบัสต้า” ในฐานะพระรอง ลบล้างสิ่งที่คนเคยมองข้าม สู่การเป็น “กาแฟพิเศษ”

คุณภาพของ กาแฟ ไม่เพียงเกิดจากเคมีใน เมล็ดกาแฟ แต่ยังมาจากการคัดเลือกโดยมนุษย์ กาแฟพิเศษจากสายพันธุ์อาราบิก้าที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบันนั้น ไม่ใช่ของขวัญจากธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการปรับปรุงสายพันธุ์ที่ใช้เวลานานนับศตวรรษทีเดียว แล้วจึงนำเข้าสู่กระบวนการผลิต, การแปรรูป, การคั่ว และการชง ซึ่งแต่ละขั้นตอน หัวใจอยู่ที่การสร้างคุณภาพให้กับกาแฟในแต่ละแก้วที่ดื่มกัน

สายพันธุ์กาแฟหลักๆ ที่นิยมบริโภคกันทั่วโลกนั้นมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ "อาราบิก้า" และ "โรบัสต้า" สายพันธุ์ที่ปลูกกันมากก็คืออาราบิก้า มีสัดส่วนสูงราว 75-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นกาแฟที่ชอบความเย็น เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 800-2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตามมาด้วยโรบัสต้าในสัดส่วน 20-25 เปอร์เซ็นต์ ปลูกกันในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 500-600 เมตร อีกสายพันธุ์ที่มีการปลูกกันแต่ก็น้อยกว่าน้อย สัดส่วนเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ คือ "ลิเบอริก้า"

แม้ว่าต่างก็เป็นกาแฟเหมือนกันแต่มีความแตกต่างกันในหลายด้าน ที่ผ่านมาสายพันธุ์อาราบิก้านั้น ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสารกาแฟชั้นดี ยืนหนึ่งในเรื่อง "กลิ่น"และ "รสชาติ" จนถึงกับถูกอัพเกรดนำไปทำเป็น กาแฟพิเศษ (Specialty coffee) ผ่านกระบวนการแปรรูปอย่างดูแลเอาใจใส่  ราคาจึงขยับตัวสูงขึ้นมาก ส่วนโรบัสต้านั้น ถูกมองว่ามีความเป็น "รอง" ในด้านกลิ่นรส แต่ปลูกง่ายให้ปริมาณผลผลิตมาก มักผลิตเป็นกาแฟเชิงพาณิชย์ นำไปทำเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปหรือไม่ก็เบลนด์กับกาแฟอาราบิก้า

161375094014

โรบัสต้ากำลังถูกปั้นให้เป็นอีกทางเลือกของ"กาแฟพิเศษ" / ภาพ : Battlecreek Coffee Roasters on Unsplash

อาทิ ในสูตรชง “เอสเพรสโซ” สไตล์อิตาลี ก็มีการใช้กาแฟอาราบิก้า 90-95 เปอร์เซ็นต์ ที่้เหลืออีก 5-10 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นโรบัสต้า ซึ่งการนำโรบัสต้ามาเป็นส่วนผสมนั้น เพื่อเสริมให้กลิ่นรส และบอดี้ รวมทั้งครีม่าของเอสเพรสโซถ้วยนั้น มีความสมบูรณ์มากขึ้น ตรงตามแนวคิดของผู้ออกแบบรสชาติกาแฟแก้วนั้นๆ

อย่างที่ทราบกันดีว่า “กาแฟพิเศษ” เป็นกาแฟที่มีการเอาใจใส่ พิถีพิถัน และลงลึกรายละเอียดในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากแหล่งปลูก, วิธีปลูก, สายพันธุ์, ความสูงจากระดับน้ำทะเล, ปริมาณฝนที่ตกในแต่ละปี ยันการแปรรูป ไร่กาแฟดังๆ จำนวนมากมีการลงทุนทำวิจัยอย่างจริงจังเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต เรียกว่ากว่าจะเป็นกาแฟในแต่ละแก้วให้ได้ดื่มกันนั้น ผ่านการประคบประหงมดูแลมาเป็นอย่างดีและเต็มที่ ดังนั้น จึงแตกต่างจากกาแฟท้องตลาดทั่วไปในด้านคุณภาพ กลิ่นและรสชาติ รวมไปถึงราคาด้วย

ด้านรสชาติ หากวัดจากระดับการคั่วเดียวกันแล้ว กาแฟอาราบิก้าจะให้กลิ่นหอมกว่า หวานกว่า และรสชาติละมุนกว่า ส่วนโรบัสต้ามีรสชาติขมกว่า ฝาดกว่า เปรี้ยวน้อยกว่า มีความซับซ้อนน้อยกว่า แต่ก็มีเนื้อสัมผัสหรือบอดี้ที่มากกว่าอาราบิก้า ซึ่งเป็นผลจากที่ภายในเมล็ดของทั้ง 2 สายพันธุ์มีระดับองค์ประกอบทางเคมีต่างกัน เช่น น้ำตาล ไขมัน และโปรตีน สาเหตุที่ทำให้โรบัสต้ามีรสชาติขม และมีกลิ่นคล้ายยางไหม้ (rubbery notes) นั้น มีการวิเคราะห์ว่า เกิดจากโรบัสต้ามีปริมาณ "คาเฟอีน" สูงกว่าอาราบิก้าประมาณ 2 เท่าตัว 

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เป็นปัจจัยที่นำไปสู่ "บทสรุป" และ "ชุดความคิด" ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า คุณภาพของโรบัสต้าด้อยกว่าอาราบิก้า

161375099230

โรบัสต้านิยมนำไปผสมในเอสเพรสโซสไตล์อิตาลี / ภาพ : Tyler Nix on Unsplash

กาแฟโรบัสต้าแบ่งเขตปลูกทั่วโลกได้ 4 โซน 1.ทวีปแอฟริกา ได้แก่ เอธิโอเปีย, อูกันด้า, เคนย่า, เยเมน และไอวอรี่โคสต์ 2.อเมริกากลาง/แคริบเบียน ได้แก่ คอสตาริก้า, กัวเตมาลา และจาไมก้า 3.อเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล, โคลอมเบีย, เปรู และเวเนซูเอล่า 4. เอเชีย/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินเดีย, จีน, พม่า, ลาว, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และไทย

ในเมืองไทย กาแฟโรบัสต้าปลูกกันมากหลายจังหวัดทางใต้ เช่น ระนอง, ชุมพร, สตูล, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, นครศรีธรรมราช และพังงา ทางภาคเหนือที่ปลูกอาราบิก้าเป็นส่วนใหญ่ ก็มีไร่โรบัสต้าอยู่เช่นกัน ที่จังหวัดน่าน, เชียงราย และพิษณุโลก ส่วนในภาคอีสาน ก็ทราบว่ามีการปลูกกันที่อุดรธานีและชัยภูมิ

กาแฟโรบัสต้าตามแหล่งปลูกทั่วโลก มักถูก “มองข้าม” ความสำคัญไป จึงไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มากเทียบกาแฟอาราบิก้ามาตั้งแต่อดีตทั้งในเรื่องการผลิตและการแปรรูป แทบไม่มีการคัดแยกสารกาแฟที่มีความผิดปกติ (defect) ส่งผลเชื่อมโยงไปถึงรสชาติและราคา เน้น “ปริมาณ" มากกว่า "คุณภาพ" จนถูกพิจารณาว่ามีศักยภาพเหมาะที่จะนำไปทำหรือเป็นส่วนผสมของกาแฟเชิงพาณิชย์ เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป และกาแฟพร้อมดื่ม เป็นต้น

ถ้าเปรียบโลกกาแฟเป็นภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง สายพันธุ์อาราบิก้า ซึ่งรูปลักษณ์เมล็ดกาแฟรีเรียว ปลูกบนยอดดอย ถูกปรุงและปั้นให้เป็นกาแฟพิเศษ คงได้รับบทเป็น "พระเอก" ของเรื่อง ขณะที่โรบัสต้าซึ่งมีเมล็ดกลมมน เติบโตง่ายบนพื้นที่ราบต่ำ ทนทานต่อโรคและความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศได้ดี ให้ผลผลิตสูง ราคาต่ำกว่า จัดเป็นกาแฟเกรดอุตสาหกรรม คงไม่พ้นบทบาทของ "พระรอง" หรืออาจเป็นเพียง "ตัวประกอบ" ที่มีบทบาทอะไรไม่มากนัก

ในแง่มุมนี้ ผู้เขียนชอบใจอีกคำเปรียบเทียบกาแฟ 2 สายพันธุ์นี้ เพราะเห็นว่าให้ภาพตรงและชัดเจนมาก เป็นคำเปรียบเปรียบที่บอกว่า หากอาราบิก้าเป็น “หงส์ขาวสวยสง่า" โรบัสต้าก็คงไม่ผิดจาก "ลูกเป็ดขี้เหร่" เท่าใดนัก

ด้วยกลิ่นรสที่ถูกมองว่า "ไม่อร่อย" ที่ติดตัวมาแต่ครั้งอดีต ทำให้กาแฟโรบัสต้าถูก “เพิกเฉย” จากบรรดาโรงคั่วและนักเลงกาแฟพิเศษทั่วโลก กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ได้เกิด “ชุดคำถาม” ดังๆ ขึ้นมาในกลุ่มเกษตรผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้าว่า อาราบิก้าเป็นกาแฟสายพันธุ์เดียวหรือที่ถูกจัดให้เป็นกาแฟคุณภาพ?

หรือโรบัสต้าเป็นได้แค่กาแฟด้อยคุณภาพเสมอไปจริงๆ หรือ?

หากว่าโรบัสต้าได้รับการดูแลเอาใจใส่เหมือนกับกาแฟอาราบิก้า เอามาขัดสีฉวีวรรณในระดับเดียวกัน มีการแปรรูปและคั่วในวิธีที่เหมาะสม ก็น่าจะช่วยยกคุณภาพของโรบัสต้าให้สูงขึ้นตามไปด้วยหรือไม่?

ด้วยกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโรบัสต้า หยิบมาสร้างสรรค์ให้เป็น "กาแฟพิเศษ" ได้หรือไม่?

คำถามดังๆ เหล่านี้ นำไปสู่ความ “ตั้งใจ" จากไร่กาแฟโรบัสต้าหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเราด้วย ในความพยายาม "ปลุกปั้น" และ "ผลักดัน" อย่างเต็มสูบ หวังลบล้างชุดความคิดหรือความเชื่อเดิมๆ เป้าหมายคือสร้างคุณภาพและเพิ่มมูลค่าของกาแฟโรบัสต้าให้ทัดเทียมกับกาแฟอาราบิก้า เปิดเป็นอีกทางเลือกใหม่ให้คอกาแฟได้สัมผัสกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟสายพันธุ์นี้

จนเกิดการบัญญัติศัพท์ใหม่ให้กับกาแฟโรบัสต้าที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ในด้านการผลิตและการแปรรูปทุกขั้นตอนเป็นอย่างดีแบบเดียวกับอาราบิก้า ว่า โรบัสต้าคุณภาพ (Fine Robusta) หรืออีกชื่อเรียกว่า กาแฟพิเศษโรบัสต้า (Specialty Robusta)

161375141387

กาแฟโรบัสต้า เริ่มมีการแยกแยะรสชาติกาแฟ (cupping) เช่นเดียวกับอาราบิก้า / ภาพ :  Rene Porter on Unsplash

"บราซิล" หนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟชั้นแนวหน้าของโลก ดูเหมือนจะเป็นชาติแรกๆ ที่เริ่มผลิต, แปรรูป และทำตลาดกาแฟพิเศษโรบัสต้า ที่ผ่านมาเกษตรกรท้องถิ่นมีการรวมตัวตั้งกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อแบ่งบันข้อมูลและประสบการณ์ในการผลิตโรบัสต้าคุณภาพ สวนทางกับเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังคงตั้งหน้าตั้งตาผลิตโรบัสต้าที่เน้นปริมาณในเชิงพาณิชย์กันอยู่ แม้กลุ่มยังมีขนาดเล็ก เพิ่งเริ่มนับหนึ่งกัน งานหนักยังรออยู่ข้างหน้า แต่ทุกคนเชื่อว่าโรบัสต้าพิเศษเป็น "อนาคต" เพียงเริ่มผลิตไม่กี่ปี ความต้องการก็มีเข้ามามากกว่าปริมาณการผลิตเสียแล้ว

จุดที่ทำให้โรบัสต้าเริ่มเป็นที่รับรู้กันมากขึ้นในโลกของกาแฟพิเศษก็คือ ในปี คศ. 2010 หลังสถาบันคุณภาพกาแฟสากล (CQI) ได้ออกเกณฑ์ "มาตรฐาน" และ "ระเบียบวิธี" ในการประเมินคุณภาพของกาแฟพิเศษโรบัสต้าขึ้นมา โดยประยุกต์มาจากระบบการคัดเกรดคุณภาพกาแฟอาราบิก้าของสมาคมกาแฟพิเศษ (SCA) อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับองค์การพัฒนากาแฟอูกันด้า จัดอบรมนักชิมรสชาติมาตรฐาน (Q Grader) สายกาแฟโรบัสต้า เพื่อทำหน้าที่บ่งชี้คุณภาพ และอธิบายคุณลักษณะจุดเด่นจุดด้อยของกาแฟโรบัสต้าตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ขณะที่ "เวียดนาม" ประเทศผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ ก็กระโจนเข้าสู่ตลาดกาแฟพิเศษโรบัสต้าเช่นกัน ภาคเอกชนกำลังขะมักเขม้นเร่งศึกษาวิธีการต่างๆ นานา เช่น รูปการแปรรูป, การคั่ว และการชง เพื่อผลิตโรบัสต้าพิเศษให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภคในประเทศและเพื่อเป้าหมายในการส่งออก เพราะพิจารณาเห็นว่า กาแฟอาราบิก้าแบบพิเศษนั้นค่อนข้างมีราคาสูงเอาการอยู่ หากว่าปรับปรุงโรบัสต้าให้มีคุณภาพทัดเทียม ประตูส่งออกก็จะเปิดกว้างขึ้นทันที

161375130492

กาแฟพิเศษโรบัสต้าจากแหล่งปลูกในเวียดนาม วางจำหน่ายบนเว็บไซต์ amazon.com

หรืออย่างไร่กาแฟในกาน่าที่ชื่อ "Gold Coast Roasters" ก็หันมาพัฒนาโรบัสต้าแบบพิเศษขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าโรบัสต้าเป็นกาแฟแห่งอนาคต มีข้อได้เปรียบอยู่หลายด้าน เช่น ปลูกง่าย เติบโตดีในสภาพอากาศที่ร้อน และทนทานต่อโรคพืช  ส่วนสายพันธุ์อาราบิก้ามีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมากกว่า แต่เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องปรับปรุงคุณภาพของกาแฟโรบัสต้า เพื่อลบล้างชุดความคิดเรื่อง "ชื่อเสีย" ในอดีตเสียก่อน

สถาบันพยากรณ์สภาพอากาศในออสเตรเลีย เคยให้ข้อมูลว่า หากโลกยังมีปัญหาภาพภูมิอากาศแปรปรวนไปจนถึงปี ค.ศ. 2050 พื้นที่เพาะปลูกกาแฟจะได้รับผลกระทบรุนแรง จนส่งผลไปถึงต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเมล็ดกาแฟด้วย และเมื่อถึงปี ค.ศ. 2080 กาแฟสายพันธุ์ตามธรรมชาติที่พอทนต่อสภาพอากาศได้ อาจถึงขั้น “สูญพันธุ์” ไปเลยทีเดียว

สาเหตุที่นำไปสู่การจับกาแฟโรบัสต้ามา "ปั้นใหม่" นั้น นอกจากปัญหาเรื่องโลกร้อนหรือสภาพอากาศแปรปรวนแล้ว ยังอีกเหตุผลหนึ่งนั่นคือ ปริมาณการผลิตกาแฟอาราบิก้าแบบพิเศษนั้นไม่พอเพียงต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงต้องจับโรบัสต้ามาแต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม เพื่อดันให้เข้าไปอยู่กระแสความนิยม เป็นตัวเสริมเพิ่มเติมกาแฟอาราบิก้าที่ผลิตไม่พอขาย

องค์กรกาแฟระหว่างประเทศ (ICO) ระบุไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า ทั่วโลกมีปริมาณการผลิตกาแฟ 84.3 ล้านกระสอบ (กระสอบหนึ่งตก 60 กิโลกรัม) แต่ตัวเลขการบริโภคมีการประเมินไว้ที่ 152.1 ล้านกระสอบ ข้อมูลนี้อ้างอิงจากการบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 2 เปอร์เซ็นต์ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าอาจจะมากขึ้นกว่านี้ก็ได้ หากคนรุ่นใหม่ในจีนและอินเดียนิยมดื่มกาแฟกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ "เอกวาดอร์" ประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ มีหน่วยงานด้านพัฒนาชุมชนของเอกชนในสหรัฐ เข้าไปเปิดโครงการช่วยเหลือเกษตรกรท้องถิ่น ปรับปรุงคุณภาพของกาแฟโรบัสต้า ผ่านทางการให้เงินสนับสนุนและฝึกอบรมต่างๆ เช่น วิธีปลูกกาแฟ, การจัดเตรียมดิน, การบำรุงดิน, การเก็บเกี่ยวผลเชอรี่กาแฟ และการแปรรูป รวมไปถึงการทำตลาดในนามของเกษตรกรเองอีกด้วย

161375117616

ผลกาแฟสุกหรือเชอรี่กาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า / ภาพ : © 2010 Jee & Rani Nature Photography (License: CC BY-SA 4.0)

แล้วก็เป็นที่เอกวาดอร์นี้เอง ที่มีการจัดงาน "Robusta Gold Cup" ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2016 เพื่อประกวดประชันกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า จากความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างสมาคมผู้ส่งออกกาแฟเอกวาดอร์, หน่วยงานด้านพัฒนาชุมชนของสหรัฐที่ระบุไว้ตอนต้น และรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดซูคุมบิออสซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำไร่กาแฟกันเป็นจำนวนมาก 

ผลปรากฎว่า...กาแฟโรบัสต้าจากไร่หลายแห่งที่ส่งเข้าแข่งขัน ให้กลิ่นรสที่หลากหลายทีเดียว เช่น ช็อคโกแลต, วนิลลา, โกโก้, กล้วย, อัลมอนด์, กลิ่นผลไม้และดอกไม้ บางตัวออกรสหวานนำ มีความเปรี้ยวที่เหมาะสม และความขมต่ำ เมื่อเปรียบกับกาแฟอาราบิก้าที่นำมาเป็นตัวอย่างแล้ว แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย

กาแฟโรบัสต้ามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Coffea canephora"  มีต้นกำเนิดอยู่ในป่าของเอธิโอเปีย ก่อนกระจายตัวออกสู่ตอนกลางและใต้ของทวีปแอฟริกา จากไลบีเรีย แทนซาเนีย ไปสู่แองโกลา แต่กว่าจะปรากฏโฉมต่อสายตาชาวโลกก็ต้องรอจนกระทั่งปี ค.ศ. 1897 หลังจากมีการนำกาแฟสายพันธุ์นี้เข้าไปปลูกในอินโดนีเซีย, คอสตาริก้า และจาไมก้า ทดแทนพันธุ์อาราบิก้าที่พ่ายแพ้ต่อโรคราสนิม และก็เป็นในปลายศตวรรษที่ 19 กาแฟโรบัสต้าก็เข้าสู่เวียดนาม ก่อนที่จะมีการนำไปปลูกยังอินเดียและบราซิลในเวลาต่อมา

เนื่องจากมีจุดเด่นตรงที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ต่ำ มีภูมิต้านทานโรค แถมยังให้ผลผลิตสูง จึงกลายเป็นสายพันธุ์กาแฟยอดนิยมที่ถูกนำออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอีกสายพันธุ์หนึ่ง เป้าหมายเพื่อส่งออกไปทำเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่

แต่ด้วยเงื่อนเวลาเป็นสำคัญ...ความที่ปลูกช้าล้าหลังสายพันธุ์อาราบิก้าอยู่หลายร้อยปี  ทำให้องค์ความรู้ด้านกาแฟโรบัสต้ายังไม่มีการทำวิจัยศึกษากันอย่างจริงจังเท่าที่ควรจะเป็น เรียกว่าถ้าเป็น "เพชร" ก็ยัง "เจียระไน" ไม่เสร็จสมบูรณ์

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง...แม้กาแฟ "โรบัสต้าพิเศษ" อยู่ในช่วง "ตั้งไข่" ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเท่ากับกาแฟอาราบิก้าพิเศษ ผู้เขียนในฐานะนักดื่มกาแฟ ก็ต้องขอขอบคุณเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเราด้วย ที่ต่างพยายามตั้งใจพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของกาแฟโรบัสต้า เพื่อรีดศักยภาพทั้งกลิ่นและรสชาติของกาแฟพระรองสายพันธุ์นี้  ถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักดื่ม เพิ่มอีกมิติทางเลือกสำหรับผู้บริโภค

...คอกาแฟก็แบบนี้ละครับ ชอบลิ้มรสกาแฟที่มีรสชาติใหม่ๆ แตกต่างไปจากเดิมอยู่เสมอ

161375125832

ดอกสีขาวนวลคล้ายดาว 5 แฉกของกาแฟโรบัสต้า / ภาพ : © 2010 Jee & Rani Nature Photography (License: CC BY-SA 4.0)

ทว่าหากว่าจะนำกลิ่นรสของกาแฟทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ไปเปรียบเทียบ หาค่า "ความอร่อย" แบบถูกปากถูกใจ ผู้เขียนเห็นว่า อาจจะไม่ถูกต้องเหมาะสมนัก เพราะอย่าลืมว่ากาแฟโรบัสต้าและอาราบิก้าเป็นคนละสายพันธุ์กัน ต่างมี “คาแรคเตอร์” เป็นของตนเอง

ดังนั้น อาจต้อง "คิดใหม่" และ "ลองใหม่" เพื่อหา "แนวทาง" หรือ "รูปแบบ" ที่เหมาะสมลงตัวกับคุณสมบัติของกาแฟ ทั้งในแง่ของออกแบบการผลิต, การแปรรูป, การคั่ว และวิธีชง เพื่อดึงจุดเด่นๆ ของกาแฟโรบัสต้าพิเศษออกมาให้มากที่สุด เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับกาแฟอาราบิก้า