สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2564

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2564

เงินบาทขยับอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงตามแรงขายของสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทขยับอ่อนค่า แต่ฟื้นตัวได้บางส่วนปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ในช่วงแรก ก่อนจะเริ่มอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าลงได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากกรอบขาขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ ถูกจำกัดลง หลังจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด

- ในวันศุกร์ (19 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 29.96 เทียบกับระดับ 29.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (11 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส และประเด็นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงข้อมูลการส่งออกเดือนม.ค. และปัจจัยทางการเมืองของไทย ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.  ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก Core PCE Price Index เดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ จีดีพีไตรมาส 4/63 (ครั้งที่2) และดัชนีราคาบ้านเดือนธ.ค. 63 นอกจากนี้ตลาดอาจยังคงติดตามสถานการณ์โควิด 19 ทั้งในและต่างประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,500.51 จุด ลดลง 0.52% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 95,826.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.03% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.13% มาปิดที่ 384.46 จุด

- หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมีแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ดี หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบก่อนจะปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ และแรงขายทำกำไรของกลุ่มสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มธนาคาร การเงินและพลังงาน 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,490 และ 1,475 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,515 และ 1,530 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/63 ของบจ. ปัจจัยทางการเมืองของไทย สถานการณ์โควิด 19 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนม.ค. และจีดีพีไตรมาส 4/63 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.พ. ของจีน ตลอดจนยอดค้าปลีกและผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น