บทเรียนการจัดการสีเขียวของค้าปลีก

บทเรียนการจัดการสีเขียวของค้าปลีก

ความท้าทายอย่างยิ่งของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่รายนี้ที่จำเป็นต้องหาแนวทางในการปรับปรุงและพิสูจน์ต่อสังคมให้ได้ถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจค้าปลีกไปแล้ว แต่การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างแท้จริงยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและความกดดันจากสมาชิกอื่น ๆ ในโซ่อุปทานเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมั่นในสายตาของผู้บริโภคที่ต้องการเห็นผลของการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่าผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล ตลอดจนการลดปริมาณของเสีย เช่น ก๊าซพิษ สารอันตราย และขยะมูลฝอยเข้าสู่ระบบนิเวศ

จากการประมวลคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อนโยบายการสร้างความยั่งยืนของไฮเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของโลกอย่าง Walmart พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้สึกว่าการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น ในขณะที่การแข่งขันทางด้านราคาสินค้าในตลาดค้าปลีกก็มีความรุนแรงมากเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ผลิตต้องลดคุณภาพสินค้าลงจนทำให้อายุการใช้งานของสินค้าสั้นลงตามคุณภาพที่ลดลงไปด้วย ดังนั้น นอกจากจะสร้างความสิ้นเปลืองให้กับผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าจำนวนมากขึ้นแล้ว แนวทางดังกล่าวยังสร้างขยะเข้าสู่ระบบนิเวศมากขึ้นตามไปด้วย

การดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนยังส่งผลให้เกิดคำถามต่อการไม่ได้สัดส่วนระหว่างความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยมีข้อสงสัยว่า Walmart อาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขยายจำนวนสาขามากกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอ้างอิงว่าการใช้พลังงานในร้านสาขาที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2005 ได้ปล่อยก๊าซ CO2 มากกว่าปริมาณที่สามารถลดได้ถึง 2 เท่า ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายหลักของการสร้างความยั่งยืน

การขยายจำนวนสาขานอกจากจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิด เนื่องจากร้านสาขาต่าง ๆ เหล่านี้มีการออกแบบในลักษณะ low-rise ที่ต้องใช้พื้นที่ชนาดใหญ่ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ลานจอดรถ ทั้งนี้ การสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ขาดการวางแผนอย่างดียังส่งผลต่อระบบผังเมืองและนิเวศวิทยาในพื้นที่และบริเวณข้างเคียง และอาจส่งผลต่อระบบการระบายน้ำที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาน้ำท่วมได้

สำหรับประเด็นทางด้านผลิตภัณฑ์ บริษัทยังถูกวิจารณ์ถึงความแตกต่างในนิยามของคำว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่บริษัทใช้กับที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจ 

โดยผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของทางบริษัทจะนับรวมไปถึงสินค้าอาหารแปรรูป (Processed foods) ที่ผลิตในรูปแบบออร์แกนิคจากซัพพลายเออร์รายใหญ่ซึ่งมีการวางขายบนชั้นวางในร้านค้าอยู่ก่อนแล้ว และยังรวมไปถึงการจัดหาผลิตภัณฑ์นมที่นำมาจากวัวที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงตามธรรมชาติอย่างแท้จริง แต่เป็นการเลี้ยงวัวจำนวนมากภายในฟาร์มที่มีรูปแบบการจัดการในลักษณะของโรงงาน โดยให้หญ้าเป็นอาหารเฉพาะบางช่วงของปีเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทยังประสบปัญหาด้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อีกจำนวนมากที่ไม่อยู่ในลักษณะของผลิตภัณฑ์สีเขียว เช่น การขายน้ำดื่มบรรจุขวด ที่แม้จะบรรจุในภาชนะที่ไม่ย่อยสลาย แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการขายได้ เนื่องจากยังเป็นสินค้าที่มีความต้องการของลูกค้าสูง 

สุดท้าย การผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนยังเป็นที่ถกเถียงถึงความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่ลูกค้าหรือซัพพลายเออร์รายย่อยจะได้กลับมาเป็นตัวเงิน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับน้อยกว่าที่รายใหญ่ได้รับ ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดความร่วมมือด้านความยั่งยืนจากสมาชิกอื่น ๆ ภายในโซ่อุปทาน 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่รายนี้ที่จำเป็นต้องหาแนวทางในการปรับปรุงและพิสูจน์ต่อสังคมให้ได้ถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของธุรกิจตลอดโซ่อุปทานของตนเองอย่างแท้จริง