เอไอเอสดันคลื่น26กิกสู่อุตฯอีอีซี -อัดงบปี64พัฒนา4-5จีสูงสุด25,000ล้านบาท

เอไอเอสดันคลื่น26กิกสู่อุตฯอีอีซี -อัดงบปี64พัฒนา4-5จีสูงสุด25,000ล้านบาท

เอไอเอสยิ้มร่าหลังจ่ายค่าคลื่น 26 กิก พร้อมติดสปีดลุย 5จีในพื้นที่อีอีซีหว่านงบลงทุนปูพรมอัพเกรดเน็ตเวิร์ก หวังตอบโจทย์อุตฯ4.0 ด้วยความหน่วงต่ำตอบสนองการใช้งานออโต้เมชั่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า วานนี้ (18 ก.พ.2564) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือเอไอเอสผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ช่วงความถี่ 25.2-26.4 กิกะเฮิรตซ์ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ดังกล่าว จำนวน 5,719.15 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยบริษัทเป็นเพียงรายเดียวที่มีคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ย่านความถี่สูง ในปริมาณแบนด์วิธมากที่สุดถึง 1200 เมกะเฮิรตซ์จและพร้อมแล้วในการเปิดให้บริการทันที

โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มอบใบอนุญาตใช้งานและประกอบกิจการแล้วโดยมีอายุ 15 ปี เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2564 สิ้นสุดลงวันที่ 17 ก.พ.2579 

ทั้งนี้ จากการชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์พร้อมรับใบอนุญาต ส่งผลให้บริษัทถือครองคลื่นความถี่ 5จีครบทั้ง 3 ย่าน ได้แก่ คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ หากรวมเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5จี ทั้งหมดอยู่ที่ 1330 เมกะเฮิรตซ์และเมื่อรวมกับคลื่นความถี่เดิมที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่แล้ว ส่งผลให้มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 3จี,4จี และ 5จี มากที่สุดรวม 1420 เมกะเฮิรตซ์(ไม่รวมคลื่นที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ)

ขณะเดียวกัน ในปี 2564 บริษัทได้เตรียมงบลงทุนเครือข่ายรวม 25,000-30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเครือข่ายทั้ง 5จี และ 4จี ประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท รวมทั้งอินเทอร์เน็ตบ้าน ประมาณ 5,000 ล้านบาท หลังจากในปี 2563 มีการลงทุนพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง จนครบ 77 จังหวัดเป็นรายแรก พร้อมครอบคลุม 100% สำหรับพื้นที่ใช้งานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วยงบลงทุนในปี 2563 เป็นเงิน 35,000 ล้านบาท

สำหรับคุณสมบัติของคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ ถือได้ว่าตอบโจทย์การดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง เช่น สามารถออกแบบเครือข่ายได้อย่างสอดรับกับลักษณะธุรกิจที่แตกต่างกันของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความหน่วงที่ต่ำมาก สามารถตอบสนองการทำงานของอุปกรณ์ในสายพานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยล่าสุด บริษัท ร่วมกับ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของประเทศในพื้นที่ EEC นำเทคโนโลยี 5จี มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตภายในโรงงานใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. 5จี AGV เป็นการใช้ 5จี ควบคุม และสั่งการรถ AGV (Automated Guided Vehicles) ที่ใช้สำหรับการขนส่งชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตภายในโรงงาน และระหว่างโรงงาน 2. 5จี สมาร์ท โรบอทส์ เป็นการใช้ 5จีควบคุม สั่งการในส่วนของแขนกลหุ่นยนต์ ที่ใช้งานในส่วนสายการผลิตที่เกี่ยวข้อง โดยเทคโนโลยี 5จี จะนำมาช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน และ 3. จี Active Dashboard การประยุกต์ใช้งาน 5จี ในการเชื่อมต่อระหว่าง Server และ Machine เพื่อให้สามารถ Monitoring สายการผลิตต่างๆ