'ม.33 เรารักกัน' VS 'เราชนะ' เทียบชัดต่างกันอย่างไร?

'ม.33 เรารักกัน' VS 'เราชนะ' เทียบชัดต่างกันอย่างไร?

เทียบชัดมาตรการ "ม.33 เรารักกัน" กับ "เราชนะ" ต่างกันอย่างไร? ใครมีสิทธิบ้าง? มีขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาอย่างไร? เช็คที่นี่

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ในภาคเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาล กระทรวงการคลัง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างเร่งออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน อย่างเช่น เราไม่ทิ้งกัน เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง รวมถึง ม.33 เรารักกัน มาตรการล่าสุดที่มีเจ้าภาพ คือ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ หลายๆ คนยังอาจสับสนระหว่างมาตรการ "เราชนะ" และ "ม.33 เรารักกัน" อยู่ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงขอพาไปดูข้อสรุปชัดๆ กันอีกครั้ง ถึงความแตกต่างระหว่าง "ม.33 เรารักกัน" กับ "เราชนะ" ว่า.. ต่างกันอย่างไร?

   

  • "เราชนะ" คืออะไร?

เริ่มต้นกันที่มาตรการ "เราชนะ" ที่รัฐหวังช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ ทั้งกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มที่เคยได้รับสิทธิคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงกลุ่มที่ไม่เคยได้สิทธิใดๆ จากรัฐ ด้วยการแจกเงินเยียวยา 7,000 บาททั้งโครงการ เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและจ่ายค่าบริการ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งนี้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่

1.เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2.ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม 
3.ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ 
4.ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
5.ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
6.ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
7.ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เราชนะ กรุงเทพธุรกิจ

โดย มาตรการ "เราชนะ" มีการแบ่งกลุ่มที่ได้รับสิทธิไว้ 3 กลุ่มหลักๆ คือ

กลุ่มที่ 1 ผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน จะได้รับสิทธิมาตรการเราชนะโดยอัตโนมัติผ่านบัตรคนจน ขณะนี้เริ่มได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว สัปดาห์ละ 675-700 บาท และจะได้รับงวดต่อไปในทุกๆ วันศุกร์ จนครบจำนวนเงิน 5,400-5,600 บาท (เนื่องจากมีการนำไปคำนวณกับเงินเยียวยาเดิม จะทำให้ภาพรวมได้รับ 7,000 บาทเท่ากับกลุ่มอื่น)

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ได้สิทธิ คนละครึ่ง หรือ เราเที่ยวด้วยกัน หากตรวจสอบสิทธิเราชนะผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com และผ่านเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับเงินเยียวยาผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังเช่นกัน โดยมีการแบ่งจ่ายรายสัปดาห์ ทุกๆ วันพฤหัสบดี สัปดาห์ละ 1,000 บาท

กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิจากมาตรการเยียวยาใดๆ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องลงทะเบียนเราชนะผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ขณะนี้ได้ปิดลงทะเบียน ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ได้เริ่มจ่ายเงินเยียวยาแล้วผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง 

ขณะเดียวกันรัฐยังเปิดรับลงทะเบียนเราชนะสำหรับกลุ่มพิเศษ ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์และแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยเปิดให้นำบัตรประชาชนไปลงทะเบียนกับสาขาธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการเคลื่อนที่ต่างๆ จนถึงวันที่ 5 มี.ค.2564 และจากด้วยจำนวนคนที่ค่อนข้างเยอะ รัฐจึงขยายให้สามารถไปสมัครได้ที่ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ซึ่งสถาที่ที่เพิ่มมานั้นจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 22 ก.พ. - 5 มี.ค.2564  

161367079267

  • "ม.33 เรารักกัน" คืออะไร?

อีกหนึ่งมาตรการที่ได้รับความสนใจไม่น้อย และมีการเรียกร้องความเยียวยาช่วยเหลือ นั่นคือมาตรการ "ม.33 เรารักกัน" เนื่องจากกลุ่มที่จะสามารถเข้าร่วมและรับสิทธินี้ได้ คือ ผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ที่ในช่วงแรกนั้นรัฐมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่กลุ่มมาตรา 33 ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 กลับเป็นกลุ่มที่ตกหล่นการช่วยเหลือ รัฐจึงเร่งช่วยเหลือด้วยการออกมาที่จะแจกจ่ายเงินเยียวยา 4,000 บาทตลอดทั้งโครงการ แบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง 

โดยมีการกำหนดคุณสมบัติไว้ 5 ข้อหลักๆ ดังนี้

- เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33
- มีสัญชาติไทย
- ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- ไม่ได้รับสิทธิโครงการ "เราชนะ"
- ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 

ทั้งนี้ระบบจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียน ม.33 เรารักกัน ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ - 7 มี.ค.2564 หลังจากนั้นธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งประมวลผลคัดกรองช่วงวันที่ 8 - 14 มี.ค.2564 และผู้ประกันตนสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังในวันที่ 15-21 มี.ค.2564 และเรื่มใช้สิทธิวันแรกได้ในวันที่ 22 มี.ค.2564 

   

  • ไขประเด็น "เพิ่งลาออกจากงาน" จะเข้าเกณฑ์ "ม.33 เรารักกัน" หรือไม่?

สำหรับประเด็นนี้ "บุปผา พันธุ์เพ็ง" รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “NBT รวมใจ สู้ภัยโควิด-19” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 64 ว่า จากโครงการ “เราชนะ” ที่เปิดให้ลงทะเบียนไปแล้ว ทางสำนักงานประกันสังคมได้ส่งทะเบียนข้อมูล “ผู้ประกันตน ม.33” ให้กับโครงการเราชนะ สำหรับการคัดกรองผู้เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ โดยอัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 19 ม.ค.64 

ฉะนั้น ถ้าใครลาออกหลังวันที่ 19 ม.ค.64 ก็จะสามารถเข้ามาตรการ “ม.33 เรารักกัน”​ ได้ โดยหากพบปัญหา ตรวจสอบสิทธิไม่ผ่าน ก็สามารถยื่น “ทบทวนสิทธิ” ได้อีกครั้ง

ที่มา : กระทรวงแรงงานสำนักงานประกันสังคมกระทรวงการคลัง